คดีปารีณา-โทษประหารการเมือง
รายงานพิเศษ
กรณีศาลฎีกาพิพากษา น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีตส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ คดีจริยธรรม รุกที่ ส.ป.ก.
โดยพิพากษาให้พ้นจาก ส.ส. ตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
ได้เกิดข้อถกเถียงในแง่กฎหมายในวงกว้าง ทั้งกรณีโทษที่รุนแรง และการให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยเรื่องจริยธรรม
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
รัฐธรรมนูญ 40 และ 50 มีระบบการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่รัฐธรรมนูญ 60 ไม่มีเรื่อง ดังกล่าว โดยแปลงสภาพมาอยู่ในส่วนที่ให้ศาลฎีกาเข้ามาวินิจฉัยในรูปแบบจริยธรรมของนักการเมือง
การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยหลักแล้วการไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะให้องค์กรทางการเมืองอย่างสภาผู้แทนฯหรือวุฒิสภาเป็นผู้วินิจฉัย เพราะคดีประเภทนี้มีลักษณะเป็นประเด็นทางการเมือง ไม่ใช่ประเด็นทางกฎหมาย
ในเชิงหลักวิชาการไม่ค่อยเห็นด้วยกับการออกแบบรัฐธรรมนูญเช่นนี้ เพราะไปเอาข้อพิพาททางการเมือง ไปให้ศาลฎีกาวินิจฉัย เป็นเรื่องอันตราย เพราะศาลอาจ ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเข้าไปข้องเกี่ยวกับประเด็นในทางการเมือง อาจไม่ค่อยเข้าใจธรรมชาติของนักการเมืองเท่าไร
อีกทั้งการออกแบบรัฐธรรมนูญเช่นนี้เป็นการดึงศาลเข้ามายุ่งเรื่องการเมือง ซึ่งปกติศาลยุติธรรมอย่างศาลฎีกาไม่เข้ามายุ่งเรื่องพวกนี้เลย แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบให้ศาลฎีกาเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องระมัดระวัง เพราะต่อไปจะกลายเป็นการดึงศาลเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง และอาจถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความเป็นกลาง ซึ่งเห็นบทเรียนเช่นนี้แล้วกับศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีลงโทษตัดสิทธิ์ไม่ให้เล่นการเมืองตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่กรณีของ น.ส.ปารีณา เท่านั้น เคยมีคำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนของยุโรปพูดถึงการกำหนดบทบัญญัติการตัดสิทธิ์การเล่นการเมืองตลอดชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน การออกแบบลงโทษตัดสิทธิ์ทางการเมืองตลอดชีวิตรุนแรงเกินกว่าเหตุ
นี่คือผลจากรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กรณีที่ศาลวินิจฉัย เพราะศาลยึดจากรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว การเขียนแบบนี้จึงไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น ในทางวิชาการถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานมากจนเกินกว่าเหตุ
การให้ศาลเข้ามาวินิจฉัยจริยธรรมของนักการเมืองเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรมสูง ไม่เหมือนการตัดสินคดีทางกฎหมาย ดังนั้นเวลาวางบรรทัดฐานต่างๆ ศาลอาจไม่ค่อยมีความชัดเจน ตัวมาตรฐานจริยธรรมถูกยกร่างโดยศาลและองค์กรอิสระแล้วนำมาบังคับใช้กับนักการเมือง ถามว่านักการเมืองได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่างมากน้อยขนาดไหน
มาตรฐานจริยธรรมต้องเขียนให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพราะนำไปผูกโยงการตัดสิทธิ์ทางการเมืองซึ่งเรื่องพวกนี้ไม่ควรนำไปผูกโยง ต่อให้ตัดสิทธิ์แค่ไม่กี่ปีโดยหลักการในทางรัฐธรรมนูญไม่ควรเขียนเรื่องตัดสิทธิ์ไปโยงมาตรฐานทางจริยธรรม เพราะไม่ใช่เรื่องทางกฎหมายที่จะไปวินิจฉัยจนสิ้นข้อสงสัยว่าคนนี้ผิดหรือถูกขนาดไหน ในต่างประเทศก็ไม่จับมาโยงกัน
ต้นตอและทางออกของเรื่องนี้ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ อาจกลับไปใช้ระบบเดิมหรือไม่ โดยปรับให้สภาเป็นคนดำเนินการ ซึ่งหากเป็นระบบเดิม ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะมีเรื่องความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยด้วย
เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมต้องยกร่างใหม่ เพราะมีลักษณะการเขียนค่อนข้างกว้างและเป็นนามธรรมสูง จะเอาเรื่องชีวิตทางการเมืองของคนไปผูกโยงกับความไม่ชัดเจน แบบนี้ไม่ได้ เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมอาจไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เพราะเรามีกฎเกณฑ์ของ ป.ป.ช.อยู่แล้ว ให้ใช้กฎหมายที่มีอยู่ตัดสินก็ได้
ที่คดีนี้ทำนักการเมืองผวาก็สะท้อนให้เห็นถึงระบบที่ไม่มีความชัดเจน
ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร
ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิ์ทางการเมืองอยู่แล้ว ไม่ว่าจะตลอดชีวิตหรือจะกี่ปี เพราะโทษทางการเมืองก็คือโทษทางการเมือง เช่น อาจห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่การตัดสิทธิ์ทางการเมือง หมายความว่าจะเลือกตั้งก็ทำไม่ได้ เหมือนบุคคลที่ถูกตัดสิทธิ์ไม่ใช่พลเมือง เพราะไม่มีสิทธิ์อะไรเลยแม้แต่การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ไม่แน่ใจว่าที่เรามีฐานคิดการลงโทษแบบนี้ ไปเอามาจากไหน
ถามว่าการลงโทษลักษณะนี้สอดคล้องกับหลักสากลหรือไม่ เคยมีกรณีในต่างประเทศ เช่น รัฐมนตรีทำความผิดฐานทรยศต่อชาติก็เป็นโทษทางอาญา ส่วนโทษทางการเมืองเข้าใจว่าอาจห้ามลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ไม่ได้ตัดสิทธิ์การยุ่งเกี่ยวทางการเมืองในทางอื่น เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือการเลือกตั้ง การลงโทษให้ตัดสิทธิ์ทางการเมือง เป็นการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนจนเกินไป
ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น ระหว่างจริยธรรมกับความผิดทางกฎหมาย การทำผิดกฎหมายต้องถูกลงโทษอยู่แล้ว ตรงนี้ไม่มีปัญหา แต่เรื่องจริยธรรมปัญหาคือจริยธรรมทางการเมืองคืออะไร ในต่างประเทศจริยธรรมหรือศีลธรรมทางการเมือง เป็นสิ่งที่นักกฎหมายเองก็ยังต้องตีความกัน สุดท้ายได้ข้อสรุปที่ตกผลึกว่าคือการเป็นพลเมืองที่ดีที่เคารพกฎหมาย
แต่ของเรานำเรื่องจริยธรรมมาเป็นความผิดที่ต้องถูกลงโทษอย่างหนัก ประหลาดเกินไปหรือไม่ที่เราเอาสิ่งที่เป็นนามธรรมมาเปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจอย่างกว้างขวาง เข้ามาลงโทษ โดยที่ตัวผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเองก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปนั้นผิดหรือไม่ผิด
ยกตัวอย่าง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯในคดีที่ดิน รัชดา ที่เซ็นให้คุณหญิงพจมานซื้อที่ดินได้ในฐานะคู่สมรส ถ้าเปิดประมวลกฎหมายแพ่งจะพบว่าสามีภรรยา หากจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ก็ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส ซึ่งนายทักษิณเซ็นในฐานะคู่สมรส ไม่ได้เซ็นในฐานะนายกฯ แต่ถูกหยิบยกมาว่าผิดจริยธรรม
โดยหลักที่ให้มีศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา เพื่อให้มีการกลั่นกรองมาเป็นระดับชั้น เมื่อไม่มีกลั่นกรองเป็นลำดับชั้น เมื่อวินิจฉัยแล้วหากอนาคตเกิดความผิดพลาดจะทำอย่างไร ก็ต้องรอกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างเดียว
แก้ไขให้เกิดความรอบคอบกว่านี้ ประเด็นสำคัญต้องแยกให้ขาดก่อนว่า ผิดจริยธรรมก็คือผิดจริยธรรม อาจเป็นการลงโทษทางการเมือง ส่วนผิดกฎหมายก็คือผิดกฎหมาย ก็ลงโทษกันตามกฎหมาย แต่ไม่ใช่การตัดสิทธิ์ทางการเมือง ต้องเสนอให้ชัดว่าไม่เห็นด้วยกับการตัดสิทธิ์ทางการเมือง เพราะเท่ากับเป็นการริบความเป็นพลเมือง ส่วนกระบวนการพิจารณาต้องทบทวนว่าการให้ศาลพิจารณาชั้นเดียวแล้วจบ ถูกต้องหรือไม่
ส่วนที่มีความพยายามโยงคดีของน.ส.ปารีณา กับกรณีมารดานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือครองที่ดินป่าสงวน ความแตกต่างอันดับแรกคือมารดาของนายธนาธร ไม่ได้เป็นนักการเมือง และต้องเข้าใจสภาพที่ดินของไทยก่อนว่ามีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันมาก่อน
และกรณีแม่นายธนาธรซื้อต่อมาจากบริษัทหนึ่ง ถามว่าทำไมคนที่ถือครองที่ดินคนสุดท้ายจึงถูกลงโทษ ทั้งที่เขา ก็ซื้อมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ทำไมเราไม่ไปไล่บี้ เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองที่เป็นคนรับจดทะเบียน โอน หรือจำนอง ทำนิติกรรมมากกว่า ซึ่งเป็นกระบวนการของฝ่ายปกครองที่มีความผิดพลาด
ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มสธ.
เรื่องจริยธรรมนั้น ในอดีตการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ใช้หลักการที่เรียกว่าอิมพีชเมนต์ (impeachment) ซึ่งต่างกับหลักการรีคอล (Recall) ซึ่งเป็นการถอดถอนเหมือนกัน แต่เป็นการถอดถอนโดยตรงจากประชาชน
แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ไม่มีเรื่องการถอดถอนเลย แต่ไปให้อำนาจ ป.ป.ช. หรือยื่นเรื่องต่อศาลฎีกา ทำให้เกิดคำถามว่ากระบวนการถอดถอนเรื่องจริยธรรมไปให้อำนาจตุลาการอาจทำให้เกิดเรื่องของตุลาการภิวัฒน์ กระทบการตรวจสอบถ่วงดุลใน 3 อำนาจ นิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นว่าที่ถอนเรื่องการถอดถอนออก แล้วโอนไปให้ศาลฎีกา เพราะเกี่ยวข้องกับการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งกังวลเรื่องสภาผัวเมียซึ่งเกิดขึ้นช่วงปี 40 และ 50 เป็นความวิตกกังวลที่มุ่งไปจัดการนักการเมืองมากเกินไป ทำให้หลักการเสียหาย
กรณี น.ส.ปารีณาต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ การรุกป่า การรับผิดทางกฎหมาย เป็นกระบวนการทางศาล ส่วนเรื่องจริยธรรมต้องเป็นเรื่องขององค์กรทางนิติบัญญัติ ควรเป็นเรื่องของรัฐสภามากกว่า หากไปให้อำนาจฝ่ายตุลาการทำให้ดุลอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลเสียไป
วันนี้เมื่อพูดถึงการตรวจสอบในประเทศไทยจะมีการตรวจสอบทางการเมือง และการตรวจสอบทางกฎหมาย การตรวจสอบทางการเมืองมีทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งกระทู้ถาม หรือการใช้ระบบกรรมาธิการ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจมีเรื่องอุ้ม ช่วยพวกเดียวกัน พวกมากลากไป ไม่เกิดประสิทธิผลในระบบรัฐสภา
ส่วนการตรวจสอบทางกฎหมาย ก็ไปเขียนให้อำนาจองค์กรใดองค์กรหนึ่งมีอำนาจหรือดุลพินิจที่มากเกินไป เช่น องค์กรอิสระหรือศาลต่างๆ สุดท้ายก็จะถูกหยิบยกมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจะตรวจสอบอย่างแท้จริง
ดังนั้น สิ่งสำคัญวันนี้คือการตรวจสอบในภาคประชาสังคม ช่วยเติมเต็มการตรวจสอบทางการเมืองให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น ป้องกันไม่ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งใช้อำนาจไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้
แน่นอนกรณีที่เกิดขึ้นอาจสร้างความกังวลหรือหวาดกลัวให้ ส.ส.หรือรัฐมนตรีที่ถูกร้องเรียน เพราะหาก ป.ป.ช.ชี้มูลเข้าข่ายขัดจริยธรรมร้ายแรง ก็สามารถส่งเรื่องต่อไปศาลฎีกาได้ทันที ไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล และโอกาสที่จะถูกหยิบยกมาใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองก็เป็นไปได้
ทั้งหมดมาจากรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ร่างขึ้นมาบนฐานของความไม่ไว้วางใจประชาชน ทำให้การออกแบบกลไกและสถาบันการเมืองต่างๆ มุ่งไปสู่การควบคุมนักการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน สุดท้ายก็กลายเป็นรัฐราชการผ่านองค์กรอิสระ
การออกแบบกลไกควรเน้นให้ภาคประชาสังคมเข้ามาตรวจสอบ มากกว่าใช้กลไกทางกฎหมายเหล่านี้ ในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ก็มีองค์กรภาคประชาชน มีสภาที่สุ่มจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าไปตรวจสอบ
ส่วนการนำคดี น.ส.ปารีณา ไปเทียบกับกรณีที่ดินมารดานายธนาธรนั้นอาจไม่เหมือนกันทีเดียว ตัวผู้ถือครองไม่ได้เป็นนักการเมือง ไม่ได้เป็นชื่อนายธนาธรถือครองโดยตรง และกระบวนการได้มาเป็นการซื้อต่อหลังออกเอกสารสิทธิแล้ว ไม่เหมือนน.ส.ปารีณาที่เป็นเรื่องที่ ส.ป.ก.ซึ่งมีบางส่วน รุกล้ำป่าสงวน ซึ่งเป็นคนละแบบ