รัฐสภา เปิดฉากถก แก้รธน.ปลดล็อกท้องถิ่น ธนาธร ยันต้องกระจายอำนาจ ให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ด้าน ปิยบุตร จี้ ส.ว. รับร่าง เป็นหลักฐานไม่ขวางแก้รธน.
เมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 30 พ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. …. แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เสนอโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ
ทั้งนี้ ก่อนการพิจารณาสาระ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) หารือต่อที่ประชุมถึงการใช้เวลาอภิปราย โดยกำหนดเวลาให้ฝ่ายละ 2 ชั่วโมง คือ ตัวแทนประชาชนที่นำเสนอร่าง 2 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 2 ชั่วโมง ฝ่ายค้าน 2 ชั่วโมง และฝ่ายวุฒิสภา 2 ชั่วโมง รวม 8 โมง จากนั้นจะใช้เวลาในการลงมติอย่างเปิดเผยด้วยการขานชื่อ จำนวน 2 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม การเสนอดังกล่าว ได้รับการคัดค้านจากนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะวิปฝ่ายค้าน เพราะมองว่าเป็นการปิดกั้นการอภิปรายของสมาชิก พร้อมเสนอให้เปิดกว้างกับการอภิปราย และหากลงมติไม่แล้วเสร็จในวันนี้ (30 พ.ย.) สามารถเลื่อนการลงมติในการประชุมร่วมรัฐสภาครั้งถัดไปได้
จากนั้น เข้าสู่การพิจารณา โดยนายธนาธร ชี้แจงเหตุผลการเสนอแก้ไขร่างรธน. ว่า คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราควรเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนกันได้ เช่น การเข้าถึงน้ำประปาที่สะอาดที่ดื่มได้ จึงต้องตั้งคำถามว่า เราอยากเห็นโครงสร้างการเมืองไทยตอบโจทย์ และแก้ปัญหาสังคมได้จริงหรือไม่ ไม่มีนโยบายใดเป็นยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาทุกเรื่อง แต่ถ้าจะมีนโยบายสักชุดที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และยกระดับบริการสาธารณะได้ นั่นคือนโบบายกระจายอำนาจ และลดการรวมศูนย์ของส่วนกลาง
นายธนาธร กล่าวต่อว่า เราจึงเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้านการปกครองท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการเปิดตัวเครื่องจักรเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่มีหลักใหญ่ใจความ คือ 1.อำนาจและอิสระในการบริหาร 2.การจัดการงบประมาณที่เป็นธรรมเหมาะสมกับภารกิจที่ได้รับ และ 3.การทำประชามติปรับโครงสร้างการบริหารประเทศครั้งใหญ่ โดยยึดหลักการพื้นฐานที่อำนาจเป็นของประชาชน การเลือกตัวแทนของตัวเอง และการมีอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาท้องถิ่นไปข้างหน้า เพราะคนในพื้นที่รู้ปัญหาดีกว่าส่วนกลาง และอยากเห็นบ้านของตัวเองดีขึ้นกว่าเดิม
“ท่านอาจไม่ชอบผมไม่เป็นไร แต่ขอให้ดูผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ร่างปลดล็อกท้องถิ่น ผมไม่ได้รับประโยชน์อะไร แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ หากเห็นด้วยในทิศทางและหลักการในการกระจายอำนาจ หากไม่เห็นด้วยรายละเอียดบางประเด็นขอให้รับหลักการ เพื่อหาทางประนีประนอม ข้อสรุปที่ยอมรับได้ในวาระต่อไป เพื่อให้เราเท่าทันปัญหาของประเทศ” นายธนาธร กล่าว
ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ชี้แจงว่า เราพูดเรื่องการกระจายอำนาจมาหลายทศวรรษแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีการถ่ายโอนอำนาจอย่างชัดเจน และยังมีการถกเถียงเรื่องอำนาจซ้ำซ้อน ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น บางกรณีจึงเกิดการเกี่ยงกันว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยราชการใด การกระจายอำนาจไปสู่ประชาชนและท้องถิ่นจึงมีความจำเป็น พลเมืองมีส่วนนร่วมทางการเมืองมากขึ้น ไม่ใช่แค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง
ร่างฉบับนี้มีเนื้อหาสำคัญ 12 ประการ ได้แก่ 1.การรับรองหลักการกระจายอำนาจ และหลักความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 2.การกำหนดอำนาจหน้าที่แบบทั่วไป ในการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น 3.การแก้ไขปัญหาอำนาจซ้ำซ้อน 4.การกำหนดประเภท อปท. ในรัฐธรรมนูญ พร้อมเปิดทางว่าหากต้องการสร้างรูปแบบใหม่ ให้ทำเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)
5.การประกันเรื่องหลักการเลือกตั้งให้เลือกผู้บริหารท้องถิ่นเอง 6.รายได้และรายรับของ อปท. พร้อมเปิดทางให้ท้องถิ่นมีช่องทางรายได้ และรายรับใหม่ๆ เช่น การกู้เงิน เพื่อนำมาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการจัดสรรเงินอุดหนุน 7.รูปแบบการจัดทำบริการสาธารณะที่มีมากขึ้น เช่น การมอบเอกชนให้เข้ามาทำโครงสร้างพื้นฐาน 8.การเป็นอิสระการบริหารงานบุคคล 9.การกำกับดูแล อปท.
นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า 10.การตั้งสภาพลเมือง เพื่อเป็นการเติมพลังการมีส่วนร่วมให้กับพลเมือง เช่น การจัดทำประชามติของคนในท้องถิ่น การตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของผู้บริหารท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมการบริหารจัดการงบประมาณ 11.การกำหนดกฎหมายถ่ายโอนระยะเวลาสภาพบังคับต่างๆ และ 12.แผนการทำประชามติว่าประเทศไทยจะเอาอย่างไรกับราชการส่วนภูมิภาค ที่กำหนดโรดแม็ปฟังความเห็นในระยะ 5 ปี หากประชาชนเห็นด้วย ส่วนราชการไม่ได้ถูกยุบ แต่จะย้ายไปสังกัดท้องถิ่นเท่านั้น และที่สำคัญร่างปลดล็อกท้องถิ่นไม่ยุ่งกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
“ผมคาดหวังว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อกท้องถิ่นจะได้รับการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง และวุฒิสภา ร่างนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวุฒิสภา แต่ร่างนี้จะเป็นสิ่งที่แสดงให้สังคมเห็นว่า วุฒิสภาไม่ได้ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญหากเป็นประโยชน์ประชาชน” นายปิยบุตร กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการชี้แจงในสภาครั้งนี้ของนายธนาธร ถือเป็นการพูดในสภาครั้งแรก หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายธนาธร ในฐานะส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ในตอนนั้น สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 23 พ.ย. 2562 จากกรณีถือครองหุ้นในบริษัท วีลัค-มีเดีย จำกัด