รัฐบาล จ่อ ออกพรก.แก้ปัญหาฉ้อโกงออนไลน์ ตัดช่องเปิดบัญชีม้า-อายัดเงิน

Home » รัฐบาล จ่อ ออกพรก.แก้ปัญหาฉ้อโกงออนไลน์ ตัดช่องเปิดบัญชีม้า-อายัดเงิน


รัฐบาล จ่อ ออกพรก.แก้ปัญหาฉ้อโกงออนไลน์ ตัดช่องเปิดบัญชีม้า-อายัดเงิน

รัฐบาล จ่อ ออกพรก.แก้ปัญหาฉ้อโกงออนไลน์ ตัดช่องทางเปิดบัญชีม้า-อายัดเงิน ให้ได้รวดเร็ว เตรียมชงเข้าครม. สัปดาห์หน้า

วันที่ 7 พ.ย. 65 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) แถลงผลการประชุมการแก้ไขปัญหาฉ้อโกงออนไลน์ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ว่า ปัญหาฉ้อโกงออนไลน์นั้นมีหลายประเภท ทั้งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลงทุนหลอกซื้อของ รวมถึงการพนันออนไลน์ บัญชีม้า

ซึ่งรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งให้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ในที่ประชุมวันเดียวกันนี้ มีการประชุมโดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือกัน

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า สำหรับเรื่องบัญชีม้า เราต้องหยุดให้ได้ หากพบพฤติกรรมการโอนเงินที่ผิดปกติ ก็ต้องปิดและบล็อกให้ได้ รวมถึงต้องอายัดบัญชีให้ได้รวดเร็ว ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าจะต้องมีการแก้กฎหมายโดยจะออกเป็นพระราชกำหนด เพื่อความรวดเร็ว จะสามารถเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ตนต้องสรุปรายละเอียดทั้งหมดเพื่อนำเสนอนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมครม. โดยจะมีการเขียนกฎหมายให้ชัดเจนว่า การรับจ้างเปิดบัญชีม้าทำไม่ได้ ถือว่ามีความผิดและต้องมีบทลงโทษโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)จะเข้ามาดูในเรื่องนี้

นอกจากนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรายงานว่า มีคดีแจ้งความเรื่องฉ้อโกงออนไลน์ถึง 1 แสนกว่าคดี มีมูลค่าความเสียหายกว่า2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามจะมีการดูแลเรื่องการประชาสัมพันธ์ การให้ความรู้กับประชาชนเพื่อไม่ให้ถูกหลอกได้ง่าย ซึ่งรัฐบาลจะรับไปดูแล แจ้งเตือนผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อาจจะใช้แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง เป็นช่องทางในการให้ข้อมูล

ขณะเดียวกันธนาคารทุกแห่งก็ต้องไปปรับปรุงระบบโมบายแบงก์กิ้ง ให้มีการแจ้งเตือนก่อนโอนเงิน ตรวจสอบการโอนเงินผิดปกติ หรือการถูกรีโมทแอพพลิเคชั่นเข้ามาในเครื่องมือถือของเรา เพื่อดูดข้อมูลหรือดูดเงินเราไป ซึ่งตรงนี้ธนาคารจะต้องไปปรับปรุงระบบให้ได้ เพราะไม่เช่นนั้นประชาชนจะขาดความเชื่อมั่นและไม่กล้าใช้ระบบของธนาคาร ดังนั้นต้องมีระบบป้องกันที่ดี

สำหรับประเด็น การนำซิมมือถือไปใช้ กันในหลายรูปแบบ เช่น บัญชีม้านำไปใช้เพราะยืนยันตัวตนไม่ได้ นั้น ที่ผ่านมามีการนำซิมไปขายต่อกันเป็นพันๆเบอร์ จนเป็นช่องทางนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง จึงมีการหารือให้กสทช. เข้ามาดูเรื่องนี้ โดยเฉพาะการควบคุมซิมที่ใช้ต่อคน ต้องไม่เกิน 5 ซิม

ด้าน พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) กล่าวว่า เรื่องบัญชีม้าโดยปกติทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ดำเนินการได้ ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน เพียงแต่ขณะนี้กฎหมายยังไม่ครอบคลุมในทุกอย่าง ที่ประชุมในวันเดียวกันนี้จึงเสนอให้ออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อความรวดเร็ว และให้เสร็จทันภายในรัฐบาลชุดนี้ ตอนนี้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และที่สำคัญตอนนี้ตัวการใหญ่อยู่ต่างประเทศ ทำให้การทำงานเป็นไปได้ยาก

ส่วน นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ทางกสทช.จะเข้มงวดให้มากขึ้น คนที่มีซิมเป็นจำนวนมากจะต้องมาชี้แจงให้ได้ว่ามีไว้เพื่ออะไร โดยทางกสทช. จะส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตามเราจะไปบังคับว่าหนึ่งคนมี 5 ซิมคงไม่ได้ เพราะอาจถือเป็นการริดรอนสิทธิ์ ของประชาชนจึงต้องส่งข้อมูลเหล่านี้ไปให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจสอบ

ส่วนกรณีที่มีการส่งเอสเอ็มเอสหลอกลวงนั้น ในเรื่องนี้ได้ให้ โอเปอเรเตอร์ของผู้ประกอบการที่ ดำเนินการเรื่องเอสเอ็มเอสต่างๆเป็นฝ่ายตรวจสอบ เช่น หากจะมีคนมาจดทะเบียนใหม่มาซื้อแล้วจะส่ง เอสเอ็มเอส ก็ต้องมาขึ้นทะเบียนกับกสทช.ก่อนว่ามีแบล็คลิสต์อยู่หรือไม่เพราะ มักจะมีคนแฝงตัวเข้าไปอยู่โดยอ้างว่าเป็นองค์กรนั้นองค์กรนี้ ถือเป็นการดับเบิ้ลเช็กก่อน ก่อนที่จะเข้าไปประกอบการ ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของโอเปอเรเตอร์พบว่าเอสเอ็มเอสมีจำนวนลดลง ถึง 7 หมื่นกว่ารายการ

ขณะที่ น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) กล่าวถึง การหลอกลงทุนออนไลน์ ว่า ที่ผ่านมากลต. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากดีอีเอส และกลต.เองได้ใช้นโยบายเกี่ยวกับการป้องกันและให้ความรู้ประชาชน ซึ่งความจริงก่อนลงทุน ประชาชนต้องตรวจสอบก่อนว่า สินค้า หรือโปรดักทางการเงิน เป็นในรูปของหลักทรัพย์ปกติหรือสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งก็มีการตรวจสอบและเมื่อพบว่ามีการหลอกลวงเราก็รีบแจ้งไปยังดีอีเอสทันที และมีหลักฐานต่างๆก็ให้ดีอีเอสไป สิ่งที่สำคัญที่เรา คิดเสมอคือต้องป้องปรามและดำเนินการอย่างรวดเร็ว

ร.ต.อ. ปิยะ รักสกุล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า คดีที่ดีเอสไอรับผิดชอบคือเรื่องการกู้ยืมเงิน ที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก เราจะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน เพราะจุดมุ่งหมายของผู้หลอกลวงคือต้องการเงิน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือต้องไม่ให้เขานำเงินออกไปได้ ซึ่งการทำงานจะร่วมกับปปง. ในการดำเนินคดีทางแพ่งเพื่อเอาเงินคืนมาให้กับผู้เสียหาย

นายวรุณ กาญจนภู รองเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดเหตุ เราได้ให้ความร่วมมือที่ดีกับทางหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน มีการให้ความเห็นแก่หน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่มีการเปิดบัญชีม้า ไปจนถึงการอายัดบัญชี ซึ่ง จากการทำงานร่วมกันกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำให้เราสามารถอายัดเร่งด่วน และต้องใกล้ชิดกับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย โดยจะมีสำนักงานปปง. เข้ามาร่วมด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ