อากาศร้อนอบอ้าวอย่างบ้านเรา สามารถพบการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษได้เรื่อยๆ ตลอดทั้งปี และยังมีความเสี่ยงได้ตั้งแต่ร้านอาหารข้างทาง ไปจนถึงร้านมีชื่อขึ้นห้าง หรือโรงแรมดัง เมื่อไรก็ตามที่เรามีอาการถ่ายท้อง ท้องเสีย หลายคนนึกถึงยาคาร์บอนที่ช่วยให้เราหยุดถ่ายได้ แต่เมื่อไรที่เราควรทาน และเมื่อไรที่เราควรรักษาด้วยวิธีอื่น Sanook! Health มีข้อมูลมาฝากกัน
ยา “คาร์บอน” คืออะไร?
ยาคาร์บอนเป็นตัวยาที่มีส่วนประกอบของ “ผงถ่าน” (activated charcoal) มีฤทธิ์ในการดูดซับสารพิษ หรือสารเคมีไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย หรืออาจนำไปบรรเทาอาการอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ หรือผสมกับยาตัวอื่นเพื่อการรักษาอาการบางอย่างโดยเฉพาะ
ยาคาร์บอน รักษาอะไรได้บ้าง?
- ถ่ายเหลวหรือท้องเสียจากภาวะอาหารเป็นพิษ
- ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
- มีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก จนทำให้ปวดท้อง
- ได้รับสารเคมี หรือสารพิษ
ยาคาร์บอน กับเรื่องเข้าใจผิด
ยาคาร์บอน ไม่ใช่ “ยาหยุดถ่าย” เป็นเพียงยาที่เข้าไปช่วยดูดซับสารเคมี สารพิษ รวมถึงเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษออกมาผ่านอุจจาระ อาจช่วยลดอาการถ่ายท้องในรายที่ป่วยเป็นโรคอาหารเป็นพิษที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้
หากเป็นอาการท้องเสียที่ไม่ได้มีการติดเชื้อ (ถ่ายเหลว แต่ไม่ได้ปวดบิด อาเจียน หรือมีไข้ร่วมด้วย) ร่างกายจะค่อยๆ หยุดถ่ายไปได้เอง อาจไม่จำเป็นต้องทานยาคาร์บอน เราควรดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปจากการถ่าย เพื่อป้องกันอาการช็อกจากการขาดน้ำกะทันหันแทน (ทั้งนี้ หากถ่ายเกิน 10 ครั้งแล้วอ่อนเพลียมาก ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการถ่ายเหลวในครั้งนั้นๆ จะดีกว่า)
วิธีกินยาคาร์บอนอย่างถูกวิธี
- รับประทานยานี้ตอนท้องว่าง โดยรับประทานก่อนอาหารอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- รับประทานยาตามขนาด และความถี่ที่ระบุไว้บนฉลาก (เนื่องจากยาแต่ละชื่อการค้าอาจมีปริมาณตัวยาที่แตกต่าง
- โดยทั่วไปอาจทานยาคาร์บอนได้ครั้งละ 3-4 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่จริงๆ แล้วตัวยาคาร์บอนมีหลายชนิด และแต่ละชนิดมีส่วนผสมที่ออกฤทธิ์ไม่เหมือนกัน ควรอ่านฉลากให้ดีก่อนทาน หรือขอคำแนะนำจากเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนทานทุกครั้ง
ข้อควรระวังของยาคาร์บอน
- ทานยานี้แล้ว อาจมีอุจจาระสีดำ เพราะยาคาร์บอนไม่ได้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย แต่เข้าไปจับสารพิษ และแบคทีเรียในลำไส้ แล้วขับออกมาพร้อมอุจจาระ
- ห้ามใช้ยานี้เป็นประจำ
- หากมียาอื่นที่ต้องรับประทานร่วมด้วย ให้รับประทานยาอื่นๆ ห่างจากยานี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- หากต้องการรับประทานนมหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ให้รับประทานห่างจากยานี้อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในขณะที่รับประทานยานี้ เพราะแอลกอฮอล์จะไปทำปฏิกิริยากับยาได้
- หญิงมีครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้าก่อนการใช้ยา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้อุดตัน มีแผลหรือเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ อยู่ในภาวะขาดน้ำ เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดบริเวณช่องท้อง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร
คำแนะนำหลังมีอาการท้องเสีย
- งดรับประทานอาหารที่อาจทำให้ถ่ายง่าย เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว นม อาหารรสจัด
- รับประทานอาหารอ่อนๆ ย่อยง่าย เช่น แกงจืด ข้ามต้ม โจ๊ก
- เมื่อหายท้องเสียสนิทดีแล้ว ทานอาหารที่มีโปรไบโอติคเพื่อช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ที่ดีให้กับร่างกาย เช่น โยเกิร์ต
- เลือกทานอาหารปรุงสุกใหม่ อุ่นอาหารให้ร้อนก่อนทาน หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่ปรุงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมงโดยไม่มีการอุ่นก่อนทาน
- เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน เพื่อให้กระเพาะอาหารย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น
- ล้างมือก่อนทานอาหาร และทุกครั้งหลังใช้ห้องน้ำ