มิติใหม่สภา "ปดิพัทธ์" เปิดให้ ปชช.สังเกตการณ์ประชุม ดีเดย์รอบแรก 150 คน

Home » มิติใหม่สภา "ปดิพัทธ์" เปิดให้ ปชช.สังเกตการณ์ประชุม ดีเดย์รอบแรก 150 คน

มิติใหม่ สภา”ปดิพัทธ์” เปิดให้ประชาชนสังเกตการณ์ประชุม ได้ยาว ในฐานะสักขีพยาน ดีเดย์รอบแรก 150 คน วันถกร่างงบประมาณ ปี 67 ขณะยอมรับ สภาล่ม เพราะประลองกำลัง-เช็คชื่อกัน ยันยึด 2 แนวทาง ตามข้อบังคับ-แนวคำตัดสินของศาลรธน. ต้องมีองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่ง

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ หนึ่งแถลงถึงโครงการในการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือ OPEN PARLIAMENT โดยเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเป็นสักขีพยาน (Witnesses) ภายในห้องประชุม ซึ่งจะแตกต่างจากการให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ในฐานะผู้เยี่ยมชม (Visitors) ที่เข้าเพียงเวลาสั้นๆ ซึ่งธรรมเนียมดังกล่าวมีการปฏิบัติแพร่หลายในต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งผู้สังเกตการณ์จะสามารถรับชมการประชุมได้ตลอดทั้งช่วง เห็นรายละเอียดต่างๆ ที่ไม่ได้ผ่านมุมมองของสื่อมวลชนประจำรัฐสภา เพื่อให้รับรู้บรรยากาศการประชุม จะได้รับความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติม เพราะจะได้รับการอบรมเรื่องระเบียบข้อบังคับการประชุมด้วย

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า การเปิดให้ประชาชนเข้าสังเกตการณ์ในครั้งแรก จะเปิดรับประชาชนมาเป็นผู้สังเกตการณ์ทั้งหมด 150 คน ลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 25 ธ.ค. ผ่านทาง QR Code โดยไม่จำกัดเพศ วัย วุฒิการศึกษา แต่ทุกคนจะต้องทำตามข้อกำหนดหรือข้อบังคับการประชุมสภา ซึ่งจะมีการอบรมก่อนหน้า ทั้งยังมีห้องรับรองไว้ให้ด้วย และโครงการนี้ไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด อีกทั้งวันแรกที่เปิดให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในฐานะสักขีพยานจะตรงกับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2567 ซึ่งจะได้เห็นรัฐมนตรีเต็มคณะ และหลังได้รับการประเมินจากรอบแรกแล้ว ก็สามารถลงทะเบียนเข้าสังเกตการณ์การประชุมสภาฯ ในวาระของการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ด้วย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นการเมืองภาคพลเมือง

ขณะเดียวกัน นายปดิพัทธ์ ยังกล่าวถึงกรณีสภาล่มในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นผู้เสนอ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า เกิดกรณีการลงมติแล้วไม่ครบองค์ประชุม ซึ่งที่ประชุมในขณะนั้นเปิดให้สส.ลงมติทั้งสิ้น 2 ครั้งแรกเป็นการลงมติว่าเห็นด้วยกับนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล หรือไม่ที่ให้ส่งร่างข้อบังคับการประชุมสภาให้คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาศึกษาก่อนเป็นเวลา 60 วัน และ การโหวตครั้งที่ 2 คือ เห็นชอบกับการเสนอร่างข้อบังคับการประชุมสภาของนายพริษฐ์ หรือไม่ ซึ่งเมื่อเช็คองค์ประชุมปรากฎว่าครบเกินกึ่งหนึ่ง

แต่เมื่อลงมติพบว่ามีสมาชิกจำนวนหนึ่งไม่กดลงคะแนนจึงทำให้คะแนนไม่ถึง 250 เสียง จากนั้นมีคำถามตามมาว่าใช้เกณฑ์ใดในการนับองค์ประชุม เช่น ใช้กึ่งหนึ่งของจำนวน สส. ที่มีอยู่ทั้งหมดในสภา หรือ กึ่งหนึ่งของ สส. ที่มาแสดงตน ซึ่งในเรื่องนี้ต้องให้ความชัดเจนว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 120 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่าการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม แต่ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ข้อที่ 25 วรรคสอง กำหนดว่าเมื่อมีสมาชิกลงชื่อมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงเป็นองค์ประชุม

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า มี 2 แนวทาง ที่นำมาใช้ในการนับองค์ประชุมในปัจจุบันคือ แนวทางการนับองค์ประชุมของนายชวนหลีกภัย อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ที่ ใช้วิธีการนับองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่งตามจำนวน สส.ที่มาประชุม และ แนวคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินเกี่ยวกับองค์ประชุมในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อปี 2551 ว่า องค์ประชุมมิได้มีความหมายแต่เพียงว่าเมื่อมีสมาชิกลงชื่อมาประชุมครบเปิดการประชุมแล้ว หลังจากนั้นสมาชิกอยู่ร่วมประชุมหรือไม่ก็ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนสมาชิกในที่ประชุมอีกต่อไปหากเป็นเช่นนั้นแล้วผลก็จะเป็นว่าหลังจากเปิดประชุมแม้จะมีสมาชิกเพียงไม่กี่คนก็อาจลงมติและเสียงข้างมากได้ ซึ่งไม่ใช่เจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ หรือ สรุปได้ว่าองค์ประชุมจะต้องอยู่เพียงพอทั้งการลงชื่อ

มาประชุมครบเปิดการประชุมแล้ว หลังจากนั้นสมาชิกอยู่ร่วมประชุมหรือไม่ก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนสมาชิกในที่ประชุมอีกต่อไปหากเป็นเช่นนั้นแล้วผลก็จะเป็นว่าหลังจากเปิดประชุมแม้จะมีสมาชิกเพียงไม่กี่คนก็อาจลงมติและเสียงข้างมากได้ ซึ่งไม่ใช่เจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ หรือ สรุปได้ว่าองค์ประชุมจะต้องอยู่เพียงพอทั้งการลงชื่อ และ การลงมติต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด

นายปดิพัทธ์ เข้าใจดีว่า มีการประลองกำลังกันบ้าง เช็คชื่อกันบ้าง แต่อย่างไรก็ตามความแม่นยำทางกฎหมาย ตนวินิจฉัยเรื่องต่างๆจากหลักการอะไร จะต้องเป็นเรื่องที่ถูกสื่อสารมาอย่างชัดเจน เผื่อทางพี่น้องประชาชน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและเจ้าหน้าที่จะได้ทราบแนวตัดสินของประธานสภาทั้ง 3 คน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ