มีผู้คนมากมายที่ต้องเผชิญกับความเศร้าหรือความหดหู่ในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต แต่บางคนก็อาจคิดว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า ความจริงแล้ว ภาวะซึมเศร้าและความเศร้า มีความแตกต่างกันอยู่ การเข้าไปพบคุณหมอจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด ลองมาดูกันดีกว่าว่า ภาวะซึมเศร้าและความเศร้า แตกต่างกันอย่างไร ทาง Hello คุณหมอ มีเรื่องนี้มาฝากกัน
ทำความรู้จักกับ ภาวะซึมเศร้า และ ความเศร้า
การรับรู้และความเข้าใจในความแตกต่างของทั้ง 2 สิ่งนี้ สามารถช่วยให้บุคคลรับรู้ว่าเมื่อใดที่ควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างเหมาะสม
ภาวะซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า (Depression) เป็นความผิดปกติทางจิตที่มีผลกระทบรุนแรงในหลายๆ ช่วงชีวิต ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกคน ทุกเพศ และทุกวัย ภาวะนี้สามารถส่งผลให้พฤติกรรมและทัศนคติของคนเราเปลี่ยนไปได้
ในปีค.ศ. 2015 มีผู้คนราว 16.1 ล้านคน ในสหรัฐอเมริกา ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป มีอาการซึมเศร้าอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงปี ค.ศ. 2014 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 6.7 ของผู้ใหญ่ทั้งหมดในประเทศ โดยอาการต่างๆ ของภาวะซึมเศร้า ได้แก่
- ความรู้สึกท้อแท้
- ความเศร้า
- ความสิ้นหวัง
- ขาดแรงจูงใจ
- การสูญเสียความสนใจในกิจกรรมที่แต่ละคนเคยพบว่าสนุก
ในกรณีที่รุนแรงบุคคลนั้นอาจคิดถึงหรือพยายามฆ่าตัวตาย พวกเขาอาจไม่รู้สึกอยากใช้เวลาร่วมกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงอีกต่อไป อาจหยุดทำงานอดิเรก หรือรู้สึกว่าไม่สามารถไปทำงานหรือไปโรงเรียนได้
หากเกิดความรู้สึกสงสัยและมีอาการเหล่านี้เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์อาจวินิจฉัยว่า บุคคลนั้นเป็นโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder; MDD) ซึ่งอาการของโรคซึมเศร้า ได้แก่
- อารมณ์หดหู่เป็นประจำ ซึ่งเป็นแบบนั้นเกือบทั้งวัน โดยมีอาการสิ้นหวัง และเศร้าอย่างเห็นได้ชัด
- การสูญเสียความสนใจในกิจกรรมปกติเป็นระยะเวลานาน
- น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญและไม่ได้ตั้งใจ
- การนอนไม่หลับ หรือการนอนหลับที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลต่อตารางเวลาปกติ
- รู้สึกเหนื่อยล้าและพลังงานต่ำ
- ความรู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิดมากเกินไปในแต่ละวัน
- ไม่สามารถมีสมาธิหรือตัดสินใจได้
- มีความคิดที่จะตายซ้ำๆ หรือมีความพยายามหรือวางแผนการฆ่าตัวตาย
แพทย์จะพิจารณาบุคคลที่มีอาการอย่างน้อย 5 อย่างดังที่กล่าวมาเป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ว่ามีอาการเจ็บป่วยมากกว่าจะเป็น อารมณ์เศร้าเป็นเวลานาน
การวินิจฉัยโรคซึมเศร้า
แพทย์จะเชื่อมโยงอาการกับภาวะซึมเศร้าเท่านั้น จะไม่เชื่อมโยงกับการวินิจฉัยทางการแพทย์อื่นๆ เช่น การใช้สารเสพติด หรือภาวะพื้นฐาน ซึ่งจะแตกต่างกับความเศร้า อาการซึมเศร้านั้นทำให้ผู้ป่วยต้องพยายามอย่างมากเพื่อจะผ่านพ้นวันหนึ่งไปให้ได้ แต่ความเศร้าเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของอาการซึมเศร้าเท่านั้น
ความรู้สึกเศร้า
ความรู้สึกเศร้า (Sadness) เป็นอารมณ์ปกติของมนุษย์ที่ทุกคนจะต้องเผชิญในช่วงเวลาที่เครียดหรือเศร้า เหตุการณ์ในชีวิตหลายอย่างอาจทำให้ผู้คนรู้สึกเศร้าหรือไม่มีความสุข การสูญเสีย ไม่มีคนที่คุณรัก การหย่าร้าง การสูญเสียงานหรือรายได้ ปัญหาทางการเงิน หรือปัญหาที่บ้าน ล้วนส่งผลต่ออารมณ์ในทางลบ การสอบไม่ผ่าน ไม่ได้งาน หรือประสบกับเหตุการณ์ที่น่าผิดหวังอื่นๆ ก็อาจทำให้เกิดความเศร้าได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม คนที่มีความเศร้ามักจะรู้สึกโล่งใจได้บ้างจากการร้องไห้ ระบายอารมณ์ หรือพูดถึงความไม่พอใจที่เกิดขึ้น บ่อยครั้งที่ความเศร้าจะมีการเชื่อมโยงกับตัวกระตุ้นที่เฉพาะเจาะจง ความเศร้ามักจะผ่านไปตามกาลเวลา หากไม่ผ่านหรือหากบุคคลนั้นไม่สามารถกับมาทำงานได้ตามปกติ อาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้า หากอารมณ์แย่ลงหรือกินเวลานานเกินว่า 2 สัปดาห์ ควรไปพบคุณหมอ
ความแตกต่างระหว่าง ภาวะซึมเศร้า และ ความเศร้า
สมาคมโรควิตกกังวลและซึมเศร้าแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (Anxiety and Depression Association of America หรือ ADDA) ได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นหนึ่งในความเจ็บปวดทางสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยที่สุดในสหรัฐอเมริกา ส่วนความรู้สึกเศร้าเป็นส่วนสำคัญของภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีความแตกต่างกัน
อาจกล่าวได้ว่า ภาวะซึมเศร้าและความเศร้า มีความเชื่อมโยงกัน แต่ไม่เหมือนกัน ความเศร้าเป็นอารมณ์ที่ทุกคนสามารถเป็นได้ มันมักจะเกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์ในชีวิตที่เครียดหรือทำให้เสียใจ ส่วนภาวะซึมเศร้านั้นเป็นความผิดปกติทางสุขภาพจิตที่รุนแรงและต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
สิ่งที่กระตุ้นแบบเฉพาะเจาะจงมักทำให้เกิดความเศร้า ในขณะที่ภาวะซึมเศร้าอาจไม่มีสาเหตุที่ระบุได้ ความเศร้าเป็นส่วนหนึ่งของภาวะซึมเศร้า แต่เกิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากความโศกเศร้าเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน สิ่งนี้อาจบ่งบอกถึงพัฒนาการของภาวะซึมเศร้าได้
เพราะฉะนั้น การไปพบคุณหมอเพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องที่สมควรทำมากที่สุด หากคุณเกิดความสงสัยว่าคุณมีอาการของโรคซึมเศร้าหรือไม่