‘พิธา’ แฉรัฐบาลตัดงบ กกต. จัดเลือกตั้งใหญ่ จาก 9,000 ล้านบาท เหลือ 1,700 ล้านบาท สงสัย ปี 66 จะได้เลือกตั้งหรือไม่
เมื่อเวลา 19.15 น. วันที่ 30 พ.ค. 2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า “ข้อสังเกตเบื้องต้นจากเอกสารงบประมาณ ปี 66 มีเลือกตั้งใหญ่ ไฉน กกต. ไม่ได้รับงบจัดเลือกตั้ง? สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้จัดกิจกรรมให้พี่น้องประชาชนเข้าร่วม Hackathon งบประมาณ หนึ่งในข้อสังเกตที่น่าสนใจจากพี่น้องประชาชน ที่ผมได้ให้ทีมงานเช็กกับเอกสารงบประมาณจากสำนักงบประมาณ คือ งบประมาณของ กกต. ที่ไม่ได้รับจัดสรรสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปในปีงบประมาณ 2566 นี้”
นายพิธา ระบุต่อว่า ในปีงบประมาณ 66 นี้ ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาลประยุทธ์ก็ต้องลงจากอำนาจ จะลงแบบยุบสภาหรือลงแบบหมดวาระแล้วเลือกตั้งใหม่ก็ตาม แต่ทั้งที่รู้ว่ายังไงก็ต้องมีการเลือกตั้งตามวาระ รัฐบาลกลับตัดงบประมาณที่ กกต. ของบมา 9,000 ล้านบาท สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ เหลือเพียงแค่ 1,700 ล้านบาท เท่ากับปีที่แล้วที่ไม่มีการเลือกตั้ง
นายพิธา ระบุอีกว่า ยิ่งเมื่อย้อนไปดูเอกสารงบประมาณย้อนหลัง เทียบกับตอนปี 2562 ที่มีการเลือกตั้งครั้งก่อน กกต.ได้งบประมาณถึง 8,228 ล้านบาท ย้อนไปในปี 2554 กกต. ก็คาดการณ์งบประมาณรายจ่ายล่วงหน้าสำหรับการเลือกตั้งตามวาระไว้กว่า 5,385 ล้านบาท แต่เมื่อมีการยุบสภาในปี 2554 กกต. จึงต้องทำเรื่องของบกลางมาใช้จัดเลือกตั้งแทนไปก่อน
จะเห็นได้ว่า กกต.จะตั้งงบไว้มากเป็นพิเศษสำหรับปีที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ ซึ่งรัฐบาลก็จะอนุมัติไปตามความเหมาะสม แต่การตัดงบในปีที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ของรัฐบาลในครั้งนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่สมเหตุสมผลของการจัดงบประมาณ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากพี่น้องประชาชนจะเห็นการจัดงบประมาณเช่นนี้แล้วเกิดคำถามว่า “ปี 2566 คนไทยจะได้เลือกตั้งหรือไม่?”
“ผมเข้าใจว่าในท้ายที่สุดรัฐบาลก็คงต้องหางบประมาณมาจัดการเลือกตั้งให้ได้ หากไม่ได้กำลังส่งสัญญาณว่าจะไม่มีการเลือกตั้งอยู่ โดยอาจจะต้องไปเอามาจากงบกลาง แต่หากท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลต้องโอนงบกลางให้ กกต. จึงจะจัดการเลือกตั้งตามวาระได้ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อในรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 ได้กำหนดเอาไว้ว่า รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของรัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ”
นายพิธา ระบุอีกว่า เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หมวด 12 มาตรา 215 ว่าด้วยองค์กรอิสระ ที่ระบุว่า องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ การใช้อำนาจขององค์กรอิสระต้องเป็นไปโดย สุจริต เที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติทั้งปวง เพราะฉะนั้น องค์กรอิสระจึงควรได้งบประมาณประจำอย่างเพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจ ไม่ใช่ให้องค์กรอิสระอย่าง กกต. ที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ต้องไปขอเงินจากรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหารในระหว่างปีงบประมาณ ถึงจะจัดการเลือกตั้งตามวาระ ตามระบอบประชาธิปไตยอย่างที่ควรจะเป็นได้