ราชบุรี กรมการค้าภายใน พณ. แจ้งปุ๋ยราคาลง เกษตรกร ถามหาปุ๋ยถูกอยู่ที่ไหน มีแต่สูงขึ้น บางสูตรขาดแคลน ฝากรัฐประชุมเอเปคคุยโควตานำเข้าปุ๋ยราคาย่อมเยาว์ เจรจาเปิดตลาดส่งออกผักผลไม้
15 พ.ย. 65 – ผู้สื่อข่าว ลงพื้นที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี แหล่งปลูกพืชผลทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย โดยได้พุดคุยกับกลุ่มสมาชิกแปลงใหญ่มะนาว ต.ดอนไผ่
นายสุชัช สายกสิกร ประธานแปลงใหญ่มะนาว เผยว่า ปัจจุบันกลุ่มยังไม่ได้รับทราบข่าวถึงการปรับลดราคาปุ๋ยเคมี แต่ในทางกลับกันราคาปุ๋ยเคมีในพื้นที่ยังคงราคาเดิม และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น ปุ๋ยบางสูตรขาดแคลน ไม่มีเหลือวางจำหน่ายหน้าร้าน ชาวสวนต้องใช้วิธีการสั่งจอง หรือปรับเปลี่ยนไปใช้สูตรอื่นเท่าที่มีจำหน่าย แม้จะราคาสูงก็ต้องยอม
ส่วนของปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0 และ 21-0-0 ที่มีการปรับลดราคาลงนั้น สำหรับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผล แทบไม่มีความจำเป็นได้ใช้ เนื่องจากปุ๋ยเคมีดังกล่าว เป็นปุ๋ยเคมีที่ใช้กับกลุ่มพืชใบในระยะเริ่มปลูก โดยเฉพาะนาข้าว ทว่าเวลานี้ชาวนากำลังอยู่ระหว่างฤดูกาลเก็บเกี่ยว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ ซึ่งการที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศออกมาแบบนี้ จะทำให้ประชาชนทั่วไปและเกษตรกรเข้าใจผิดได้
ขณะที่ ปัจจุบันปุ๋ยเคมีที่กลุ่มเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้ อาทิ สูตรเสมอ 15-15-15, 16-16-16 และ 17-17-17 ที่ใช้สำหรับการบำรุงต้น ราคาอยู่ที่ประมาณ 700 – 800 บาท ปรับขึ้น 1,400 – 1,500 บาท สูตร 12-12-17 ขนาด 50 กิโลกรัม สำหรับเร่งดอก-ผล จากเดิมราคา 1,050 บาท เป็น 1,800-1,900 บาท สูตร 25-7-7 จาก 1,500 บาท เป็น 1,700-1,800 บาท
โดยปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 ใช้บำรุงเพื่อสะสมตาดอก ที่เกษตรกรกลุ่มไม้ผลมีความจำเป็นต้องใช้ เฉลี่ยอยู่ที่ 40 กิโลกรัมต่อไร่ อาทิ ชมพู่ มะม่วง ฝรั่ง และมะนาว ขนาดกระสอบละ 50 กิโลกรัม ปัจจุบันอยู่ที่ 2,300 บาท
ถึงแม้เกษตรกรรส่วนใหญ่จะช่วยตัวเองด้วยการใช้ปุ๋ยคอก เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ก็ช่วยได้ไม่มาก เนื่องจากปุ๋ยคอก จะสามารถใช้ได้แค่ในบางช่วงฤดูกาลเท่านั้น หากนำมาใช้ในช่วงฤดูฝน ก็จะกลายเป็นแหล่งสะสมที่ก่อให้เกิดโรคในพืช เนื่องจากโคนต้นมีความชื้นมากเกินไป
โดยกลุ่มสมาชิกแปลงใหญ่มะนาว ยังได้ฝากถึงรัฐบาลว่า ในโอกาสที่จะมีการประชุม APEC 2022 ระหว่าง 18-19 พ.ย.นี้ อยากฝากให้นำเรื่องราคาและปริมาณปุ๋ยของเกษตรกร ไปร่วมหารือกับประเทศผู้ผลิต เพื่อให้ประเทศไทยได้โควตานำเข้าปุ๋ยที่มีคุณภาพในราคาย่อมเยาว์
รวมไปถึงการเจรจาเปิดตลาดส่งออกสินค้าผักผลไม้ของไทยให้มุ่งไปสู่ครัวโลกให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยยืนยันถึงความมั่นคงทางอาชีพของเกษตรกรได้เป็นอย่างมาก