พบ “ดักแด้หินแกะสลัก” เก่าแก่กว่า 5,200 ปี-ชี้เบาะแสต้นกำเนิดเพาะเลี้ยงไหม
พบ “ดักแด้หินแกะสลัก” – ซินหัว รายงานว่า สถาบันวิจัยโบราณคดีมณฑลซานซี ทางตอนเหนือของ ประเทศจีน เปิดเผยการค้นพบ ดักแด้หินแกะสลัก ที่มีอายุเก่าแก่อย่างน้อย 5,200 ปี เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา
ดักแด้หินแกะสลักดังกล่าวซึ่งมีความยาว 2.8 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลางบริเวณท้องสูงสุด 1.2 เซนติเมตร ถูกพบภายในบ้านกึ่งใต้ดินที่แหล่งโบราณคดีซ่างกัว อำเภอเหวินสี่ เมืองอวิ้นเฉิง มณฑลซานซี
จากการพิจารณาชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาที่ขุดพบ สันนิษฐานว่าบ้านหลังดังกล่าวมีอายุอยู่ในช่วงตอนต้นของปลายยุควัฒนธรรมหย่างเสาซึ่งมีอายุย้อนไปราว 5,000-7,000 ปีก่อน มีต้นกำเนิดบริเวณแม่น้ำเหลืองตอนกลาง และถือเป็นสายธารสำคัญของอารยธรรมจีน
นายเถียน เจี้ยนเหวิน นักวิจัยสถาบันวิจัยโบราณคดีมณฑลซานซี กล่าวว่ามีการขุดพบโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงไหมในสถานที่หลายแห่งของเมืองอวิ้นเฉิงตลอดช่วง 100 ปีที่ผ่านมา
รังไหมและดักแด้ไหมจำนวนมากที่ขุดพบนั้นอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ซึ่งบ่งชี้ว่าบรรพบุรุษของวัฒนธรรมหย่างเสาทางตอนใต้ของซานซีนั้นเคยเลี้ยงไหม และการค้นพบดักแด้หินแกะสลักหลายชิ้นยังมอบเบาะแสสำคัญสำหรับการศึกษาต้นกำเนิดและการแพร่กระจายของไหมอีกด้วย
ทั้งนี้ แหล่งโบราณคดีซ่างกัวซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเหวินสี่ เป็นแหล่งคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญระดับชาติ โดยสถาบันฯ ปฏิบัติงานที่แหล่งโบราณสถานแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2561
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- พบ “ร่องหินส่งน้ำ” เก่าแก่กว่า 1,800 ปี เผยทักษะอนุรักษ์น้ำยุคจีนโบราณ