เพื่อไทย ชี้ช่อง ฟื้นสูตรคำนวณส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หาร 100 ยัน ไม่ร่วมสังฆกรรม หากเดินหน้าหาร 500 เผย ขอฟังข้อเสนอที่ประชุม ก่อนกำหนดทิศทางลงมติ
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2565 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ต่อเนื่องในวาระสอง ที่ค้างประมาณ 10 มาตรา ในวันที่ 26 ก.ค.นี้ ว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวที่จะงดเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพื่อกลับไปแก้ไขมาตรา 23 ว่าด้วยสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า จากเดิมที่มติของรัฐสภาเห็นชอบให้ใช้จำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ย ให้กลับไปเป็นใช้จำนวน 100 คนหาค่าเฉลี่ย หากเป็นประเด็นดังกล่าวสามารถเดินต่อไปด้วยกันได้ แต่หากกระบวนการยืนยันที่จะใช้จำนวน 500 หาค่าเฉลี่ย พรรคเพื่อไทยคงไม่สามารถร่วมพิจารณาได้ แต่จะงดออกเสียงหรือไม่ร่วมลงมตินั้น ต้องพิจารณาในการประชุมอีกครั้ง แต่จะอยู่ร่วมเป็นองค์ประชุม เพื่อให้การพิจารณาร่างกฎหมายสำคัญเดินหน้าต่อไปได้
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า การแก้ไขมาตรา 23 ให้ใช้จำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ยนั้น ถือเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบ เพราะฝ่ายบริหารแทรกแซงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ อีกทั้งหากรู้ว่าเดินไม่ได้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย จะเลือกวิธีแก้ไขใดก็ตาม ทั้งเดินหน้าแก้ไขเนื้อหาเพื่อดันให้ผ่านวาระสาม เพื่อหวังให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำความเห็นส่งกลับมารัฐสภา พรรคเพื่อไทยจะไม่ยุ่งเกี่ยว
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า หากสุดท้ายเสียงข้างมากยอมรับ รู้ว่าทำผิดและโหวตคว่ำ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ในฐานะเสียงข้างน้อยคงหยุดเขาไม่ได้ แต่คำถามสำคัญ คือ กระบวนการเลือกตั้งที่จะมาถึงช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้าไปต่อได้อย่างไร หากเดินต่อไม่ได้ จะมีกฎหมายเลือกตั้งใดมารองรับ หากรัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนดจะมั่นใจอย่างไรว่า ยุติธรรมและเป็นคุณกับการเลือกตั้งกับทุกฝ่าย
“ดังนั้นเงื่อนไขที่รัฐบาลผูกไว้ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่ดึงดันอยากได้สูตร 500 คนหาค่าเฉลี่ย ต้องดำเนินการเอง แต่ฝ่ายค้านยืนยันจะไม่ร่วม หากการพิจารณานั้นเดินไปในทิศทางที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ” นายจุลพันธ์ กล่าว
เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะหาทางออกด้วยการยื้อให้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทำไม่เสร็จภายใน 180 วัน นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นวิธีหนึ่ง แต่การนัดประชุมรัฐสภาสัปดาห์นี้นัดไว้ 2 วัน ดังนั้นยังไงเรื่องต้องค้างอยู่ จะให้หยุดด้วยการถอนร่างออกไป เป็นประเด็นที่กมธ.และเสียงข้างมากในรัฐสภาต้องดำเนินการหาช่องทาง
นายจุลพันธ์ กล่าวอีกว่า แต่ที่ผ่านมากมธ.ใช้เวลาพิจารณาหลายเดือน และปรับแก้ไขหลายประเด็นจากร่างหลักที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอมา ดังนั้น หากจะให้ตกโดยครบ 180 วัน กังวลว่าประเด็นที่กมธ.แก้ไขรายละเอียด เพื่อให้เกิดความรัดกุม และเป็นประโยชน์กว่าร่างเดิมของครม.ต้องตกไปด้วย ดังนั้น ในทิศทางลงมติของพรรคเพื่อไทยต้องพิจารณาข้อเสนอในที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง