พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ประชุมตร.ตราจรทั่วประเทศ ขับเคลื่อนโครงการ “สุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย”
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ประชุมความคืบหน้าโครงการ “สุภาพบุรุษจราจร ประชาชนสัญจรปลอดภัย” โดยมีผู้ตร.ภาคต่างๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายจราจรทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ ร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร เช่น การทุจริต การข่มขู่ บุคลิกท่าทาง ที่ไม่เหมาะสม
โดย สุภาพบุรุษจราจร แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ สุภาพบุรุษจราจรประเภทบุคคล โดยจะต้องปฏิบัติตามหลัก 5S คือ SMlLE ยิ้มแย้มเป็นมิตร SMART บุคลิกภาพดี SALUTE สุภาพให้เกียรติ SERVICE MlND มีจิตอาสาบริการ และ STANDARD มีมาตรฐานสากล โดยจะต้องนำไปสู่จำนวนสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ลดน้อยลง
สำหรับสุภาพบุรุษจราจรประเภทหน่วยงาน จะต้องมีผลการปฏิบัติที่มีจำนวนสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ลดน้อยลง ตามเป้าหมาย คือ ผู้เสียชีวิตลดลงมากกว่า 5 % หรือ ลดลงมากกว่า 10 คน ขึ้นไป จากค่าสถิติจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเฉลี่ยปี 2560 – 2562
สำหรับ ภ.1-9 และจากค่าสถิติ อบถ. ปี 2564 สำหรับ บช.น. โดยประเภทบุคคลจะมีการคัดเลือกข้าราชการตำรวจที่เหมาะสมได้รับรางวัล บก./ภ.จว. ละ 2 นาย (สัญญาบัตร 1 นาย และ ประทวน 1 นาย) รวม 188 นาย
ผู้ได้รับรางวัลจะต้องมีบุคลิกลักษณะตามหลัก 5S ผ่านเกณฑ์ทดสอบความรู้ ผ่านผลการประเมินของประชาชนและผู้บังคับบัญชา มีภาพลักษณ์ วิสัยทัศน์และทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนในประเภทหน่วยงาน จะมีรางวัลในระดับ บก. 29 รางวัล ระดับ บช. 3 รางวัล รวมจำนวน 32 รางวัล
พล.ต.ท.ประจวบ กล่าวต่อว่า ในวันนี้ได้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ การประเมินผล ตัวชี้วัดโครงการฯ แบบตรวจราชการโครงการฯ การมอบรางวัลสุภาพบุรุษจราจร ตลอดจนกำหนดลำดับขั้นตอนการปฏิบัติ ของโครงการฯ โดยปัจจุบันอยู่ในห้วงการเก็บข้อมูล ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.65 – 31 ก.ค.66
จากนั้นจะทำการวัดผลและคัดเลือกในห้วงวันที่ 1 – 31 ส.ค.66 และกำหนดให้มีการมอบรางวัลในห้วงวันที่ 1 – 30 ก.ย.66 โดยให้ดำเนินการตามโครงการฯ สร้างความรู้ ความเข้าใจ บทบาทของตำรวจตามหลัก 5S และแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่ตามเป้าหมายของโครงการฯ
โดยต้องพร้อมรองรับการตรวจจากผู้บังคับบัญชา และให้ ศจร. กำกับ ดูแลและติดตาม การขับเคลื่อนงานของหน่วย เพื่อขับเคลื่อนให้โครงการฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น