‘ปลัดทส.’ ประสานศูนย์ เอเปค ทส. ชูโมเดล BCG เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว

Home » ‘ปลัดทส.’ ประสานศูนย์ เอเปค ทส. ชูโมเดล BCG เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว



ปลัดทรัพยากรธรรมชาติฯ ประสานศูนย์ เอเปค ทส. ชูโมเดล BCG เศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว มุ่งสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

17 พ.ย. 65 – ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส. ติดตามการทำงาน ศูนย์ประสานงานเอเปค ของกระทรวงทรัพยากรฯ ในประเด็นสำคัญจากการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่มีขึ้น ช่วงวันที่ 14 – 19 พ.ย.นี้ ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องภายใต้บทบาทภารกิจของกระทรวงทรัพยากรฯ

นายจตุพร กล่าวว่า การประชุมเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญกับการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังยุคโควิด-19 อย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน ซึ่งถือเป็นการประชุมเอเปคครั้งแรกที่ได้นำแนวคิดในเรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

โดยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy Model (BCG) มาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่จะผลักดันการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ โดยคาดหวังว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นผลลัพธ์ที่สำคัญของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 นี้

ปลัดทส. กล่าวว่า สำหรับกระทรวงทรัพยากรฯ มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปสู่การดำเนินงานในเชิงรูปธรรม โดยได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG Model) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการดำเนินงานใน 4 ประเด็นหลัก

ได้แก่ 1. การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติเพื่อความสมดุลของระบบนิเวศและเป็นฐานการพัฒนา 2. การใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างและกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม 3. การลดการใช้ทรัพยากร ลดขยะและของเสีย และ 4. การมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยกระทรวงทรัพยากรฯ จะดำเนินการพัฒนาฐานข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้รับการรับรองและส่งเสริมการตลาดมากขึ้น รวมถึงมีการลดการใช้ทรัพยากร มีการนำพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ร้อยละ 100 และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ