นอกจากกัญชาแล้ว ใบกระท่อมก็เป็นกินเป็นยาตามคำแนะนำของแพทย์แผนทางเลือกได้ด้วยเหมือนกัน แต่ต้องกินให้ถูกวิธีเท่านั้นถึงจะได้ประโยชน์
ประโยชน์ของใบกระท่อม
- รักษาอาการปวดเมื่อย
เคี้ยวใบกระท่อมสด ครั้งละ 1-3 ครั้ง คายกากทิ้ง และดื่มน้ำอุ่นตาม ควรใช้ไม่เกินวันละ 2 ครั้งหรืออีกวิธีคือ นำใบกระท่อมไปตากแห้ง บดเป็นผง ผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเม็ดมะเขือพวง รับประทานเช้า-เย็น ก่อนอาหาร ครั้งละ 2-3 เม็ด เมื่อหายแล้วให้หยุดใช้
สามารถใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ได้ เช่น เถาวัลย์เปรียง เถาเอ็นอ่อน เถาโคคลาน กำแพงเจ็ดชั้น เป็นต้น
- รักษาอาการไอ
นำใบกระท่อมสด 1 ใบ น้ำตาลทราย 1 ช้อนชา เคี้ยวแล้วอม ค่อยกลืนน้ำ คายกากทิ้ง รับประทานเมื่อมีอาการ 3-4 ครั้ง
- ลดน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
เคี้ยวใบกระท่อมแก่วันละ 2 ใบ ก่อนอาหารเช้า เคี้ยวเอาแต่น้ำ คายกากทิ้ง ดื่มน้ำอุ่นตามสามารถใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ได้ เช่น หญ้าใต้ใบ ผักเสี้ยนผี น้ำนมราชสีห์ เป็นต้น
- บรรเทาอาการปวดท้อง ท้องเสีย
เคี้ยวใบกระท่อมครึ่งใบ คายกากทิ้ง ดื่มน้ำอุ่นตาม หรือนำใบกระท่อม 3-5 ใบ ต้มกับน้ำตาลโตนด หรือน้ำตาลทรายแดง รับประทานครั้งละครึ่งถ้วยกาแฟ เช้า-เย็นหรืออีกวิธีคือ นำใบกระท่อม 3 ใบ ตำให้แหลก ผสมน้ำปูนใส 3 ช้อนโต๊ะ คั้นเอาน้ำ รับประทานทุก 3 ชั่วโมง เมื่อหายแล้วให้หยุดใช้
- รักษาแผลสด
ตำใบกระท่อมสดให้แหลก ผสมเหล้าขาว พอกแผลสด
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
เคี้ยวใบกระท่อมสด 1-2 ใบ กลืนน้ำ คายกากทิ้ง วันละ 3-4 ครั้งอีกวิธีคือ นำใบกระท่อมต้มกับน้ำสะอาด ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยกาแฟ วันละ 3 ครั้ง
ทั้งสองวิธีนี้ เมื่อความดันโลหิตลดลงมาเป็นปกติ ให้หยุดกินทันที
- รักษาโรคกระเพาะอาหาร
เคี้ยวใบสด 2-3 ใบ กลืนน้ำ คายกากทิ้ง ตอนเช้าขณะท้องว่าง รับประทานติดต่อกัน 7-10 วัน
- รักษาอาการปวดฟัน
นำใบกระท่อมสด 1 ใบ ผสมเกลือ เคี้ยวแล้วอม ช่วยลดอาการปวดฟันได้
แนะนำ ข้อมูลเกี่ยวกับ ใบกระท่อมเพิ่มเติม
- ใช้ “พืชกระท่อม” ในการรักษาโรคอย่างไรให้ถูกวิธี
- ประโยชน์ใบกระท่อม กับการใช้เพื่อสุขภาพตามภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน
วิธีเคี้ยวใบกระท่อมที่ถูกต้อง
การรักษาอาการต่างๆ ด้วยใบกระท่อม ส่วนมากจะเป็นการให้เคี้ยวใบกระท่อมสดๆ และคายทิ้ง แต่ต้องเคี้ยวให้ถูกวิธี
- นำใบกระท่อมสดมาล้างน้ำให้สะอาด ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ
- ลอกก้านใบออก ทำได้ 2 วิธี
– วิธีที่ 1 ลอกเส้นใบออกในลักษณะเป็นรูปก้างปลา จากนั้นลอกเส้นกลางใบออก ให้เหลือเพียงเนื้อใบ
– วิธีที่ 2 ลอกเฉพาะส่วนเนื้อใบเพื่อนำมาเคี้ยว - เคี้ยวใบกระท่อมให้ละเอียด ดูดกลืนน้ำลงคอ
- คายกากทิ้ง ดื่มน้ำตาม
ข้อควรระวังในการเคี้ยวใบกระท่อม
การเคี้ยวใบกระท่อมสด ควรลอกก้านใบ และเส้นกลางใบออกก่อนนำมาเคี้ยวทุกครั้ง หากไม่รูดก้านใบออกจากตัวใบ และกลืนกากใบกระท่อมเข้าไปด้วย อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้ เนื่องจากก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั้น ทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นมาในลำไส้ได้
นอกจากนี้ ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่สามารถบริโภคใบกระท่อม น้ำต้มใบกระท่อม หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของใบกระท่อมได้ ดังนี้
- เด็ก และเยาวชน ใบกระท่อมอาจมีผลต่อสุขภาพอนามัย และพัฒนาการของเด็กได้
- สตรีมีครรภ์ ใบกระท่อมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์ได้
- สตรีให้นมบุตร ใบกระท่อมอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกที่กินนมจากแม่ได้
บริโภคใบกระท่อมอย่างไรให้ถูกกฎหมาย
แม้ว่าใบกระท่อมจะสามารถนำมาบริโภคกันตามครัวเรือนได้อย่างถูกกฎหมายแล้ว แต่ห้ามนำไปผสมกับยาเสพติดให้โทษต่างๆ และห้ามขายใบกระท่อมที่ปรุงสุกหรือน้ำต้มใบกระท่อมในชุมชน