บทบรรณาธิการ – แอบแฝงเอื้อประโยชน์

Home » บทบรรณาธิการ – แอบแฝงเอื้อประโยชน์



รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะครบวาระ 4 ปี ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากสภาเลือกตั้ง ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 นี้ พร้อมๆ กับวาระ 4 ปีของสภาผู้แทนราษฎรด้วย

การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ใช้เวลาประชุมยาวนานกว่า 6 ชั่วโมง โดยคาดกันว่าเป็นการประชุมสุดท้ายก่อนเป็นรัฐบาลรักษาการ

มีวาระทั้งสิ้น 71 วาระ เป็นวาระเพื่อทราบ 17 เรื่อง วาระพิจารณา 29 เรื่อง และวาระจรอีก 25 เรื่อง และมีมติอนุมัติโครงการต่างๆ รวมแล้วเป็นวงเงินกว่า 173,850 ล้านบาท

เป็นการทิ้งทวนอนุมัติครั้งสุดท้ายที่เอื้อต่อการสร้างความนิยมให้แก่พล.อ.ประยุทธ์ พรรคการเมืองที่สังกัดใหม่ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด

ที่ถูกจับจ้อง ได้แก่ การปรับเพิ่มค่าตอบแทนผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล อ้างเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเทศบาล และเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน หลังจากไม่ได้ปรับมานานกว่า 11 ปี

ใช้งบประมาณจากรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลจากเดิม 9,522 ล้านบาท เพิ่มเป็นจำนวน 13,774 ล้านบาท

นอกจากนี้ การเพิ่มเงินค่าตอบแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ อ้างว่าเพื่อเป็นขวัญ กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ และให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ค่าครองชีพ และทัดเทียมกับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ รวมเป็นเงิน 4,795 ล้านบาทต่อปี

หากรวมกับเงินค่าตอบแทนทั้ง 2 ส่วนนี้จะเป็นเงินทั้งสิ้น 18,539 ล้านบาทต่อปี และมีผลพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้

ก่อนหน้านี้ มีมติเห็นชอบเพิ่มค่าป่วยการแก่อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านเป็น 2,000 บาทต่อเดือน และเพิ่มจำนวนที่มีสิทธิรับค่าป่วยการเป็น 1,090,163 คน โดยตั้งคำขอในงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567

จริงอยู่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้บริหารและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุข สมควรได้รับการดูแลและเพิ่มสวัสดิการให้ เป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างทั่วถึง

แต่การจำเพาะเจาะจงดำเนินการในช่วงปลายสมัยของรัฐบาลนั้น แม้ว่าจะกระทำได้แต่ก็มีคำถามว่าทำไมในช่วงก่อนหน้านี้ถึงไม่รีบดำเนินการ เป็นการฉวยโอกาสชิงความได้เปรียบทางการเมืองหรือไม่

เนื่องจากรัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าขาดความสามารถในการสร้างรายได้ให้ประเทศ งบประมาณที่นำมาดำเนินนโยบายส่วนใหญ่จึงมาจากการตรากฎหมายกู้เงิน ทำให้มีหนี้สาธารณะคงค้างในปัจจุบันมากถึง 10 ล้านล้านบาทแล้ว สร้างภาระประชาชนให้แบกรับหนักเกินไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ