บทบรรณาธิการ – เจรจาไฟใต้

Home » บทบรรณาธิการ – เจรจาไฟใต้



วงจรความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เวียนกลับมาอีกระลอก นำมาซึ่งความสูญเสีย ความไม่ไว้วางใจ และหวาดระแวงของประชาชนในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในหลายๆ ด้าน

กองทัพภาคที่ 4 ระบุภาพรวมตั้งแต่เดือนต.ค. 2565 จนถึงปัจจุบันในช่วง 5 เดือน มีการก่อเหตุลอบยิง วางระเบิด ขว้างไปป์บอมบ์ และก่อกวนในรูปแบบต่างๆ 37 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 75 ราย

เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกับผู้ก่อเหตุความรุนแรง หลบซ่อนพักพิงในพื้นที่ต่างๆ จนนำไปสู่การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 74 ราย และวิสามัญฆาตกรรม 7 ราย

โดยเฉพาะเหตุการณ์จับตายครั้งล่าสุดที่ อ.ธารโต จ.ยะลา ลุกลามจนสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่

สถานการณ์ที่กลับมาทวีความรุนแรงเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่ถึงเดือน เริ่มจากวางเพลิงเผารถก่อสร้างเส้นทาง จากนั้นดักวางระเบิดถล่มตำรวจขณะเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุใน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บ 4 นาย

จากเหตุดังกล่าวนำไปสู่การปิดล้อมจับตายผู้ต้องหา 1 รายที่อ.ธารโต จ.ยะลา แต่กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ไม่พอใจ ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่นำศพไปตรวจชันสูตร

ถัดมาไม่ถึง 2 สัปดาห์ เกิดเหตุวางระเบิดถล่มรถยนต์ของคณะรองแม่ทัพภาคที่ 4 ขณะไปติดตามสถานการณ์ที่ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ทหารเสียชีวิตและบาดเจ็บ

จากเหตุการณ์เหล่านี้ ส่วนหนึ่งกองทัพเชื่อว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุต้องการให้ส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยสันติสุข ซึ่งปัจจุบันมีความคืบหน้า และกำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดี

อย่างไรก็ตาม ในมุมกลับกันถ้าการเจรจาพูดคุยมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดีขึ้นจริง แล้วทำไมสถานการณ์ไม่ลดลง วงจรความรุนแรงยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ขับเคลื่อนการเจรจาพูดคุยกับฝ่ายขบวนการจนคืบหน้าอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นำไปสู่การลดความรุนแรง โดยเฉพาะต่อเป้าหมายอ่อนแอประชาชน

สุดท้ายการเจรจาต้องล้มเลิกหลังปี 2557 แม้รัฐบาลรัฐประหารต่อเนื่องปัจจุบันจะอ้างยังคงใช้วิธีพูดคุยอยู่ แต่ยังคงแฝงไปด้วยท่าทีแข็งกร้าวยึดหลักทางการทหารเป็นตัวนำ

คาดหวังว่ารัฐบาลสมัยหน้า โดยเฉพาะหากฝ่ายประชาธิปไตยได้เป็นรัฐบาล จักต้องหันกลับมาใช้การเมืองนำทหารอย่างแท้จริง เพื่อเจรจาพูดคุยดับไฟใต้ อย่าเดินซ้ำรอยรัฐบาลปัจจุบัน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ