บทบรรณาธิการ – เกิดข้อครหา

Home » บทบรรณาธิการ – เกิดข้อครหา


บทบรรณาธิการ – เกิดข้อครหา

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดกิจกรรมรณรงค์เชิญชวนประชาชนออกไปสิทธิเลือกตั้งส.ส.เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 ในวันที่ 14 พ.ค.นี้

เป็นการรณรงค์ใหญ่ทุกจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศ โดยปล่อยขบวนรถออกรณรงค์เชิญชวนประชาชน ภายใต้แคมเปญไทยโหวต คนไทยพร้อมใช้สิทธิ

กกต.คาดหวังมีผู้ออกไปใช้สิทธิ 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป บัตรเสียไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ โดยจะพยายามทำทุกวิถีทางสร้างความเข้าใจให้ผู้มีสิทธิทุกคนทราบก่อนเข้าคูหา พร้อมทั้งขอให้ดูกฎกติกาให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันบัตรเสีย

รวมถึงเน้นย้ำพรรคการเมือง ผู้สมัครส.ส. ให้ยึดมั่นการหาเสียงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหา

ข้อห่วงใยที่กกต.ฝากเน้นย้ำไปถึงผู้สมัครส.ส. และพรรคการเมือง ให้ตระหนักถึงการหาเสียงที่ถูกต้องตามกฎระเบียบ เพราะเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ไม่เกิดข้อครหาต่างๆ นับเป็นเรื่องที่น่าขบคิด

ดังเมื่อการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งนอกและในเขตวันที่ 7 พ.ค.2566 เกิดข้อผิดพลาด และข้อครหามากมาย จากการปฏิบัติหน้าที่ของกกต. ตลอดจนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ดังที่เผยแพร่ตามโซเชี่ยลมีเดีย ปรากฏเป็นข่าวไปทั่ว

ไม่ว่าจะเป็นการเขียนเขตเลือกตั้ง จังหวัด จ่าหน้าซอง กรอกรหัสผิด ไม่ครบถ้วน ไม่ติดรูปภาพข้อมูลผู้สมัครหน้าหน่วย ตลอดจนความยุ่งยาก ความไม่สะดวกต่างๆ ของผู้มาใช้สิทธิ เป็นต้น

จนนำมาสู่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนร่วมลงชื่อเกิน 1 ล้านคน เรียกร้องให้ถอดถอนกกต.

จากปัญหาต่างๆ เมื่อวันเลือกตั้งล่วงหน้า พรรคการเมืองฝ่ายค้านเรียกร้องกกต.ตอบคำถามชี้แจงข้อท้วงติง และความผิดพลาดบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ด้านกกต.เองก็ยอมรับถึงความผิดพลาด และรับฟังข้อท้วงติงจากหลายฝ่าย พร้อมทั้งรับปากจะกำชับไม่ให้เกิดขึ้นอีกในวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 ซึ่งเหลือเวลาอีก 3 วัน

นอกจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครส.ส. และพรรคการเมืองที่ต้องตระหนักถึงกฎกติกาแล้ว กกต.ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้ง ต้องทำให้การเลือกตั้งยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้ผลเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

สำคัญคือต้องไม่เกิดข้อครหา หรือถ้าสุดวิสัยก็ควรให้น้อยที่สุด และสามารถชี้แจงได้ครบถ้วน คลี่คลายข้อสงสัยได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ