บทบรรณาธิการ – สิ่งกีดขวาง ปชต.

Home » บทบรรณาธิการ – สิ่งกีดขวาง ปชต.


บทบรรณาธิการ – สิ่งกีดขวาง ปชต.

ภาพลักษณ์สมาชิกวุฒิสภาเสื่อมทรุดลงไปอีก จากการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ส.ส. และ ส.ว. เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 4 ฉบับ ผลปรากฏว่าร่างทั้ง 4 ฉบับถูกตีตกทั้งหมด

แม้บางฉบับจะได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา แต่เนื่องจากไม่ผ่านเสียงเห็นชอบจากส.ว.ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดคือ ร่างแก้ไขที่จะผ่านความเห็นชอบรับหลักการในวาระแรก ต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 364 คน

ที่สำคัญต้องได้รับเสียงเห็นชอบจากส.ว. จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คนขึ้นไป

ในการประชุมเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา ร่างทั้ง 4 ฉบับ ไม่มีฉบับใดผ่านเกณฑ์เสียงเห็นชอบของส.ว.แม้แต่ฉบับเดียว

ใน 4 ร่างแก้ไข ได้รับการจับตามากที่สุดคือ ร่างแก้ไขฉบับเสนอโดยประชาชนกว่า 6 หมื่นรายชื่อ เสนอแก้ไขมาตรา 272 ยกเลิกอำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หรือที่เรียกว่า ปิดสวิตช์ส.ว.

ได้รับเสียงเห็นชอบจากสมาชิกไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ในส่วนส.ว.มีเพียง 23 เสียงที่เห็นชอบ

เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ถึงอย่างไรส.ว.ชุดนี้จะไม่ยอมให้พรรคฝ่ายค้านหรือภาคประชาชน มายึดอำนาจสำคัญของตนเองไป เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งอำนาจที่อยู่เหนือกว่า

แต่ที่น่าผิดหวังคือร่างแก้ไขเรื่องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ร่างแก้ไขสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิทางสาธารณสุข ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นเรื่องสิทธิของประชาชน ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นชอบให้ผ่าน

ตอกย้ำข้อครหา ส.ว.ชุดนี้มาจากการแต่งตั้งของผู้มีอำนาจ จึงไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตา

เมื่อไม่สามารถปิดสวิตช์ส.ว.ได้ ภายใต้กรอบอายุ 5 ปี นับตั้งแต่พฤษภาคม 2562

หมายความว่าหลังเลือกตั้งทั่วไปรอบหน้า ส.ว.แต่งตั้งชุดนี้จะยังมีอำนาจร่วมกับส.ส.จากการเลือกตั้ง ลงมติเห็นชอบบุคคลที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272

ตามแผนอยู่ยาวฝ่ายอำนาจซึ่งวางไว้อย่างเป็นระบบ

จุดนี้เอง นอกเหนือจากการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์ 1 และ 2 ที่ล้มเหลวในทุกมิติตลอด 8 ปี คือคำตอบว่าทำไมพรรคฝ่ายประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องชนะแลนด์สไลด์ในการเลือกครั้งหน้า

เพราะแลนด์สไลด์คือฉันทามติประชาชนที่ต้องการร่วมกันขจัดสิ่งกีดขวางประชาธิปไตย ปิดสวิตช์ส.ว.โดยอัตโนมัติ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ