ที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีมติเห็นชอบแนวทางขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ปีงบประมาณ 2566 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอ
ประเด็นสำคัญของมติดังกล่าวเป็นการจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ หมายความว่าให้แยกวิชาประวัติศาสตร์ออกจากกลุ่มการเรียนรู้ด้านสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นต้น
กระทรวงศึกษาธิการอ้างถึงนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์ เพื่อให้เยาวชนตระหนักรู้เรื่องความรักชาติ ภาคภูมิใจในความเป็นชาติ
จึงต้องแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกจากกลุ่มสาระวิชาอื่นๆ เพื่อสร้างความรักชาติ
การแยกวิชาประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ มีเสียงสะท้อนไม่เห็นด้วย ทั้งจากนักวิชาการด้านการศึกษา และนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ พร้อมเรียกร้องให้ทบทวน
โดยเฉพาะเหตุผลในการแยกเพียงเพื่อให้เยาวชนรักชาติ หรือภาคภูมิใจในชาตินั้น เป็นการใช้อำนาจบังคับยัดเยียดให้เด็กรักชาติ ซึ่งผิดหลักการทางการศึกษา
ที่ผ่านมาวิชาประวัติศาสตร์มักสอนให้เด็กรักชาติ รักบรรพชนแบบท่องจำ จนทำให้เด็กมีอคติกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเนื้อหาวิชาไม่ทันสมัย ต้องปรับปรุง เพราะไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนในปัจจุบัน ให้เน้นคิดวิเคราะห์มากกว่าท่องจำ
อีกทั้งการแยกวิชาจะเป็นการเพิ่มชั่วโมงเรียนด้วยหรือไม่ สุดท้ายอาจถูกเด็กตั้งคำถาม ต่อต้าน และหันไปเรียนประวัติศาสตร์แบบอื่นมากกว่า
เป็นเสียงสะท้อน ความกังวล และข้อท้วงติง ที่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการต้องระมัดระวัง ควรทบทวนอย่างยิ่งหากต้องแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกไปเรียนต่างหาก
โดยเฉพาะเหตุผลเพียงเพื่อปลูกฝังความรัก ความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ทั้งที่การสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ดี ต้องให้เด็กตั้งคำถาม ศึกษาประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ หาข้อมูลวิเคราะห์ถกเถียงได้ไม่สิ้นสุด
จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องปรับเนื้อหาวิชาให้ทันสมัย สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและผู้คน ความรักชาติของคนในปัจจุบัน หรือคนรุ่นใหม่ เด็กและเยาวชน ย่อมแตกต่างจากกลุ่มคนแบบเดียวกับนายกรัฐมนตรี กลุ่มชนชั้นนำ กลุ่มอำนาจ
ท้ายที่สุดต้องไม่บังคับยัดเยียดให้รักชาติ แต่จะต้องทำอย่างไรให้เกิดความรักชาติอย่างมีตรรกะและเหตุผล