ปัญหาราคาน้ำมันแพงเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยและสมาชิกผู้ประกอบการรถขนส่ง ซึ่งแบกรับค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันและผลกระทบจากโควิด-19 ยาวนานกว่า 2 ปี ประกาศปรับขึ้นราคาค่าขนส่ง 15-20 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป
หลังจากสหพันธ์การขนส่งฯ จัดกิจกรรมพลังคนรถบรรทุกครั้งสุดท้าย หรือ Truck Power Final Season เรียกร้องให้ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 25 บาทต่อลิตร ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันจาก 5.99 บาทเหลือ 0.10 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และยกเลิกนำไบโอดีเซลมาผสมกับน้ำมันดีเซล
แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน
แน่นอนว่าสมาพันธ์การขนส่งฯ ไม่ได้เป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันแพง แต่การประกาศขึ้นราคาค่าขนส่งอีกอย่างน้อย 15 เปอร์เซ็นต์ ผลตามมาคือทำให้ราคาสินค้าต่างๆ ต้องปรับขึ้นตามไปด้วยจากราคาค่าขนส่งที่แพงขึ้น ราคาน้ำมันเป็นต้นทุน 80-90 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตสินค้าแทบทุกชนิด รวมถึงการผลิตไฟฟ้า
เมื่อต้นทุนพลังงานเพิ่ม ผู้ประกอบการก็ต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มตาม
สุดท้ายเคราะห์กรรมตกอยู่กับประชาชนผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าครองชีพสูงมากขึ้น ทั้งค่าอาหาร ค่าสินค้าอุปโภค ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า ฯลฯ
ขณะที่ค่าแรงรายได้เท่าเดิม ไม่ปรับขึ้นตาม บางรายอาจลดลงด้วยซ้ำ
ปัจจุบันรัฐบาลแก้น้ำมันแพง ด้วยการกู้เงินมาโปะกองทุนน้ำมันเพื่อพยุงราคาดีเซล ซึ่งไม่ได้ผล ช่วยลดราคาได้น้อยมาก ซ้ำจะยิ่งสร้างภาระหนี้หมักหมมให้ประเทศ ขณะที่ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มพุ่งทะยานจนอาจทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไม่ช้า
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเห็นตรงกันว่า ทางออกที่รัฐบาลทำได้ เพราะรัฐบาลในอดีตเคยทำมาก่อน เป็นการแก้ไขปัญหาถูกจุด คือการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ส่วนจะปรับลงเหลือลิตรละ 3-4 บาท หรือ 0.10 บาท หรืองดจัดเก็บ 1 ปี เป็นข้อเสนอแนะที่รัฐบาลต้องนำไปพิจารณาหาจุดสมดุล
ที่สำคัญในสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลควรพักปัญหาการเมืองภายในไว้ก่อน หันมาให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชนเป็นอันดับแรก
เพราะนั่นคือเครื่องชี้ชะตารัฐบาลอย่างแท้จริง