บทบรรณาธิการ – ผู้นำแก้เศรษฐกิจ

Home » บทบรรณาธิการ – ผู้นำแก้เศรษฐกิจ



เมื่อวันก่อนกระทรวงพาณิชย์แถลงอัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี และมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องในเดือนมิถุนายน

ล่าสุดศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 40.2 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวม 34.6 โอกาสหางานทำ 37.8 และรายได้ในอนาคต 48.5 ปรับตัวลดลงทุกรายการ

เหตุที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง เนื่องจากกังวลราคาขายปลีกดีเซล ที่มีแนวโน้มจะทยอยปรับขึ้นไปที่ 35 บาทต่อลิตร

ทำให้เกิดปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าสูงขึ้น

ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทบต้นทุนผลิตสินค้า ทำให้เศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวแม้โควิดจะคลี่คลายและเปิดประเทศแล้วก็ตาม

ยังน่ากังวลมากขึ้นเมื่อตัวเลขดัชนีค่าครองชีพเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 6.1 ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 17 ปี 1 เดือน ขณะที่ดัชนีรายได้ในอนาคต 48.5 ต่ำสุดในรอบ 23 ปี 8 เดือน

เศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ดัชนีอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่อง ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพราะปัญหาค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพิ่ม การจ้างงานไม่เพิ่ม กังวลน้ำมันจะแพงขึ้นอีก ขณะที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันสูงมาก

ดังนั้น ค่าครองชีพยังจะขึ้นเพิ่มต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก

ข้อเสนอในเบื้องต้น รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงตรึงราคาน้ำมันในไตรมาสที่ 3 ต่อ เร่งทำโครงการธงฟ้าขายสินค้าราคาถูกให้ครอบคลุมพื้นที่คนมีรายได้น้อย

ดูแลค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ให้เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม ไม่เป็นภาระประชาชน ทำโครงการเที่ยวด้วยกันเฟส 4 และ 5 เพื่อประคองเศรษฐกิจไม่ให้ซึมแรงไปกว่านี้

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนย้ำคือ เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะชะงักงันและเงินเฟ้ออย่างเต็มรูปแบบ เพราะเศรษฐกิจขยายตัวต่ำ เงินเฟ้อสูง ว่างงานสูง เป็นองค์ประกอบครบถ้วน เป็นภาวะเศรษฐกิจแย่ที่สุด น่ากลัวที่สุดตามหลักเศรษฐศาสตร์ แก้ไขได้ยากมาก ต้องใช้เวลานาน

สิ่งสำคัญที่สุด ผู้นำจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเศรษฐกิจอย่างดีและต้องแก้ไขอย่างเป็นระบบ ถึงจะนำพาประเทศออกจากวิกฤตครั้งนี้ได้

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ