บทบรรณาธิการ – ผลพวงหาร100

Home » บทบรรณาธิการ – ผลพวงหาร100



นับเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอการเลือกตั้งตามระบบที่ถูกต้อง เมื่อที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 132

และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 25 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94 และมีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 วินิจฉัยว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 26 ไม่มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และมาตรา 94

คำวินิจฉัยศาลที่ออกมา ทำให้การเมืองไทยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามไทม์ไลน์ที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2566 ไม่เกิดสุญญากาศ หรือต้องกลับไปเริ่มต้น แก้ไขกฎหมายอย่างที่หลายฝ่ายแสดงความกังวล

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุถึง ผลพวงหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นทางโล่งสู่การเลือกตั้ง เพราะกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง มีครบแล้ว

พรรคเพื่อไทยหุ้นขึ้นพรวด ส.ส.พรรคอื่นจะแสดงท่าทีขอเข้าร่วมมากขึ้น ปลายเดือนมกราคม 2566 หากยังไม่ยุบสภา จะเห็นส.ส.ที่ต้องการย้ายพรรคลาออกเป็นกลุ่มก้อน การรวมตัวของพรรคขนาดเล็กจะเกิดขึ้น เนื่องจากโอกาสเข้าพรรคใหญ่เป็นไปได้ยาก เพราะมีตัววางไว้แล้ว

การยุบสภาจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะนายกฯ ต้องหาเวลาสร้างคะแนนนิยมในพรรคใหม่ และหาจังหวะที่อีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ

สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือรูปแบบการแบ่งเขตของ กกต.ว่าจะเป็นธรรม หรือเป็นไปเพื่อเอื้อพรรคใดหรือไม่ ขณะที่เรื่องยุบพรรคในจังหวะการเลือกตั้งก็ยังกะพริบตาไม่ได้

ในแวดวงการเมืองมีการวิเคราะห์กันมาตลอด ว่าภายใต้ร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ที่มีประเด็นสำคัญเรื่องสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะได้เปรียบ ส่วนพรรคขนาดเล็ก พรรคตั้งใหม่จะเสียเปรียบ

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ประเมินว่า เมื่อจบเลือกตั้งปีหน้าคงมีพรรคเล็กหลายพรรคสูญพันธุ์ พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยน่าจะมาเป็นอันดับ 1 ได้ส.ส. 200 คนบวกลบ โอกาสจะได้เป็นรัฐบาลมีสูง

แต่อีกมุมหนึ่ง แม้สูตรหาร 100 จะทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบ แต่ก็เป็นเพียงปัจจัยเสริม

ปัจจัยหลักอยู่ตรงพรรคใดสามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นไว้วางใจ อุดมการณ์ทางการเมือง ความเป็นประชาธิปไตย นโยบายหาเสียงทำได้จริง ผลงาน ตัวผู้สมัคร ฯลฯ เหล่านี้ต่างหากคือองค์ประกอบชัยชนะในการเลือกตั้งที่แท้จริง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ