รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 132(1) บัญญัติไว้ว่า การเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือพ.ร.ป. ให้เสนอต่อรัฐสภา และให้รัฐสภาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเวลา 180 วัน
โดยการออกเสียงลงคะแนนในวาระ 3 ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบ มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา
ถ้าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบตามร่างที่เสนอตามมาตรา 131
คือร่างของคณะรัฐมนตรี โดยข้อเสนอแนะของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง หรือโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
เหตุการณ์สภาล่มเมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างที่ประชุมร่วมรัฐสภา พิจารณาร่างพ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม
ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่สมาชิกรัฐสภาและสังคมภายนอก ว่าเป็นการเล่นเกมของส.ส.พรรคใหญ่ จงใจให้ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ที่ต่อคิวพิจารณาอยู่ ไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน วันที่ 15 ส.ค. หรือไม่
ด้วยปัญหาขัดแย้ง กลับไปกลับมาเรื่องสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 หรือหาร 100 ที่แต่เดิมหากผ่านวาระ 3 ทุกอย่างต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายการเมืองไม่แน่ใจผลจะออกมาอย่างไร จะทันเลือกตั้งหรือไม่
การที่ส.ส.ซึ่งอยากได้สูตรหาร 100 จงใจไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมทำให้สภาล่ม เท่ากับมีเจตนานำพาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง เข้าสู่ช่องทางตามมาตรา 132(1) นั่นเอง
ตามมาตรา 132(1) หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ต้องถือว่ารัฐสภาเห็นชอบตามร่างที่เสนอเข้ามาวาระแรกคือ ร่างของ ครม.โดย กกต.ที่ให้ใช้สูตรคำนวณหาร 100
พรรคใหญ่รัฐบาลและฝ่ายค้านเอาด้วย โดยเฉพาะพรรคแกนนำรัฐบาลที่เพิ่งตระหนักว่าสูตรหาร 500 มีปัญหา ไม่สามารถออกเป็นกฎหมาย นำมาปฏิบัติได้ จึงใช้มาตรา 132 เป็นกลไกทางออก ตีตกร่างกฎหมายดังกล่าว
เรื่องทั้งหมดจะไม่วุ่นวายขนาดนี้ หากผู้มีอำนาจ ไม่กดปุ่มสั่งการผิดแต่แรก เพื่อเอาใจพรรคเล็ก ช่วงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
จากนี้ก็ต้องดูว่าจะหาทางเจรจากับพรรคเล็กอย่างไร เข้าตำราเสร็จนาฆ่าโคถึก หรือไม่ และถ้าพรรคเล็กจะคิดแบบนั้น ก็ไม่ผิดจากความจริงเท่าใดนัก