สังคมตั้งคำถามกับวุฒิสภามากขึ้นโดยลำดับ หลังมีเรื่องไม่ชอบมาพากลกรณีแต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้ามารับตำแหน่งในคณะกรรมาธิการบางคณะ
ก่อนหน้านี้ทั้งพรรคการเมือง รวมถึงภาคประชาชน ร่วมกันผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เอื้อประโยชน์แก่คณะรัฐประหารให้สืบทอดอำนาจ
สุดท้ายก็ได้เพียงร่างแก้ไขฉบับเดียวเท่านั้นที่สมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วย ซึ่งก็ล้มลุกคลุกคลาน กลับไปกลับมากว่าจะรอดผ่านมาได้
ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามที่สมาชิกรัฐสภาบางส่วนยื่นร้อง ซึ่งคงจะใช้เวลาอีกนานพอสมควร
ล่าสุด การพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรวมทั้งสิ้น 4 ร่าง แต่เมื่อลงมติก็ปรากฏว่าที่ประชุมร่วมไม่รับหลักการด้วยเสียงส่วนใหญ่ทั้ง 4 ฉบับ
แม้บางร่างแก้ไขจะมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมร่วม แต่ปรากฏว่าเสียงของสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบไม่ถึง 2 ใน 3 จึงมีผลทำให้ตกไป
อย่างไรก็ตาม ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังจะดำเนินต่อไป ซึ่งมีแนวทางอื่นที่จะทำได้คือรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวน 5 หมื่นคนเพื่อให้มีการทำประชามติ
เพื่อยื่นเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 มาตรา 9 (5) ซึ่งมีผู้ทยอยร่วมลงชื่ออย่างต่อเนื่อง อันเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน
ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คนนั้น รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกำหนดให้มีวาระ 5 ปี ซึ่งอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรียังดำรงคงอยู่เต็มมือ
ทั้งๆ ที่มาของวุฒิสภาชุดนี้ ได้รับการแต่งตั้งมาจากคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน อีกทั้งบางคนดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมายาวนาน
แต่ประเทศชาติและประชาชนต้องรับภาระเสียภาษีในการเลี้ยงดูตลอดทั้ง 5 ปี รวมทั้งสิ้นกว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาล ที่นำมาใช้ด้านอื่นๆ จะมีประโยชน์และคุ้มค่ากว่า
ไม่เพียงแต่เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่นๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินการของแต่ละคนด้วย และมีข้อมูลว่าสมคบคิดกันตั้งเครือญาติและพวกพ้องมารับประโยชน์ ซึ่งน่าเศร้าใจ