ข่าวดีเรื่องขึ้นค่าแรง มาพร้อมข่าวไม่ค่อยดีนัก
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2565 พบสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 89.3 ต่อจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ 14.97 ล้านล้านบาท
สูงสุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่ปี 2550 กลุ่มตัวอย่างสูงถึงร้อยละ 99.6 ตอบว่า มีหนี้สิน
สาเหตุหลักมาจากค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 56.4 ระบุ รายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย ร้อยละ 20.1 รายได้ครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย ประเภทหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล หรือหนี้อุปโภคบริโภค รองลงมาเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ยานพาหนะ/หนี้บ้าน
โดยร้อยละ 92.1 เห็นว่า ค่าครองชีพปัจจุบันสูงเกินไป เมื่อเทียบกับรายได้ปัจจุบัน
สําหรับภาระหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน อยู่ที่ราว 5 แสนบาท แยกเป็นหนี้ในระบบร้อยละ 78.9 นอกระบบร้อยละ 21.1 โดยมีภาระต้องผ่อนชำระต่อเดือนเฉลี่ย 12,800 บาท
สาเหตุเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เพราะค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น รายได้ไม่พอรายจ่าย การผ่อนสินค้ามากเกินไป
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 65.9 ระบุว่า เคยผิดนัดชำระหนี้ ร้อยละ 34.1 ตอบว่า ไม่เคยผิดนัด
ปัจจัยก่อให้เกิดโอกาสผิดนัดชำระหนี้ สาเหตุ 5 อันดับแรก คือ จากรายได้รายรับที่ลดลง เศรษฐกิจ ไม่ดี ค่าครองชีพไม่สอดคล้องรายได้ ปัญหาสภาพคล่องธุรกิจ/ครัวเรือน และการแพร่ระบาดของ โควิด-19
ผลกระทบจากมูลค่าหนี้ครัวเรือนในระดับสูง อาจเป็นข้อจำกัดทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ไม่ดีนัก
ข่าวดีค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5 เริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ แต่ข่าวร้ายคือราคาสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอาหาร ดีดตัวขึ้นไปรออยู่ก่อนแล้ว
นักเศรษฐกิจการธนาคารกล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน เป็นสิ่งคาดเดาได้ยาก ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น เป็นต้นทุนส่งผ่านไปยังสินค้าหลายอย่างสิ่งที่กระทบแล้วตอนนี้ก็คือเงินเฟ้อ ต่อไปคือดอกเบี้ย และสิ่งที่อาจเป็นระเบิดเวลาก็คือ หนี้ครัวเรือน
รัฐบาลจึงต้องเร่งหามาตรการช่วยเหลือ เช่น พักหนี้ผ่อนบ้าน เป็นต้น เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยปลดชนวนระเบิด ไม่ให้กระทบต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวม
คนเป็นหนี้ครัวเรือนคือคนรายได้น้อย เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เงินเฟ้อทำให้เงินในกระเป๋าน้อยลง จำเป็นต้องก่อหนี้นำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
ดอกเบี้ยกำลังจะขึ้น คนกลุ่มนี้จึงน่าเป็นห่วงที่สุด