จากกรณีท่อบรรจุสาร ‘ซีเซียม-137’ สูญหายจากโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ต่อมาอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมประเมินว่า วัสดุกัมมันตรังสีดังกล่าว อาจถูกหลอมในโรงงานพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี หลังตรวจพบระดับรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นเหล็ก หรือฝุ่นแดง
แต่จากการแถลงโดยผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยเลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ระบุว่า ยังไม่อาจยืนยันฝุ่นเหล็กที่ปนเปื้อนรังสีดังกล่าว มาจากวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายจากโรงไฟฟ้าต้นเหตุเรื่องทั้งหมดหรือไม่
แม้เบื้องต้นยังไม่พบการปนเปื้อนรังสีในสิ่งแวดล้อมดิน น้ำ อากาศ บริเวณรอบพื้นที่โรงงานหลอมโลหะ ยังไม่พบผู้ป่วยจากการสัมผัส แต่ก็ยังต้องตรวจสอบเฝ้าระวังไปอีกอย่างน้อย 2-5 ปี กรณีดังกล่าวก็สร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนอย่างมาก
องค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ แถลงการณ์ชี้ถึงความไม่รัดกุมในระบบการจัดการวัตถุอันตรายของบริษัทเจ้าของโรงไฟฟ้า รวมถึงหน่วยงานราชการผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล
แสดงถึงพฤติกรรมการปกปิดข้อมูลของบริษัท ปล่อยปละละเลย ละเมิดกฎหมายตามมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติในฐานะผู้ครอบครองวัสดุกัมมันตรังสีอันตราย เป็นเหตุให้หน่วยงานรัฐไม่อาจรับมือสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
ทำให้สาธารณชนตกอยู่ในความหวาดหวั่นเสี่ยงภัย ทั้งยังไม่ได้รับข้อมูลและคำแนะนำที่ถูกต้องกระจ่างแจ้ง ตอกย้ำปัญหาความไม่รู้และมืดบอดทางข้อมูลมลพิษ และวัตถุอันตรายของหน่วยงานกำกับดูแล
ตลอดจนถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและขาดความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างอุกอาจ
อุบัติภัยร้ายแรงนี้นำมาสู่ข้อเรียกร้อง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์อย่างจริงจังรอบด้าน
เปิดเผยความจริงต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส ตั้งแต่ก่อนสูญหาย ระบบการเก็บรักษา การกำกับดูแลระบบความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า รวมถึงสืบสวนตรวจสอบหลังการสูญหายตลอดเส้นทาง
เมื่อพบแล้ว ต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดละเมิดกฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยไม่ควรใช้งบประมาณของรัฐซึ่งคือภาษีของประชาชนเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย
สุดท้ายสิ่งสำคัญ ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจำเป็นต้องสรุปบทเรียน ทบทวนช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นำภัยอันตรายร้ายแรงมาสู่สังคมเช่นนี้อีก