นโยบายค่าแรง600 ป.ตรี2.5หมื่น ในมุมมองนิสิต-นศ. เชื่อทำได้จริง ไม่เอื้อนายทุนใหญ่

Home » นโยบายค่าแรง600 ป.ตรี2.5หมื่น ในมุมมองนิสิต-นศ. เชื่อทำได้จริง ไม่เอื้อนายทุนใหญ่



นโยบายค่าแรง600 ป.ตรี2.5หมื่น ในมุมมองนิสิต-นศ. ช่วยลดปัญหาสมองไหล ตอบสนองเด็กจบใหม่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยทำงาน

วันที่ 8 ธ.ค.65 หลังจากพรรคเพื่อไทย ประกาศผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจโดยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี เริ่มต้นที่ 25,000 บาท โดยยืนยันจะทำให้สำเร็จภายในปี 2570 หากพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งปี 2566

นายสันติภาพ ราษฎรยินดี ประธานสโมสรนิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มองว่า ค่าแรง 300 บาท ไม่เพียงพอต่อประชาชนทั่วไป จึงเห็นด้วยกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังว่าต้องเพิ่มไปถึง 600 บาท แต่อย่างน้อยให้เพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ก็ถือว่านโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จแล้ว

สำหรับความกังวลต่อนโยบาย นายสันติภาพ ระบุว่า ยังมีความกังวลในส่วนหนึ่ง เพราะหากเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแล้ว จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นด้วย จึงต้องหาจุดร่วมระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานรัฐ

“คาดหวังว่าน่าจะเป็นไปได้ เมื่อดูจากผลงานที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยก็สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ในหลายส่วนเช่นกัน แต่ขอฝากไว้ว่าหากมีแนวคิดจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ทางพรรคเองควรหากลไกดูแลเรื่องค่าครองชีพด้วย คือหากค่าแรงเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ต้องหาทางคุมไม่ให้ค่าครองชีพเพิ่มด้วย”

ส่วนนโยบายเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำของเด็กจบใหม่ วุฒิการศึกษา ป.ตรี เริ่มต้นเงินเดือนที่ 25,000 บาทนั้น นายสันติภาพ กล่าวว่า สมเหตุสมผล เพราะทุกวันนี้เด็กจบใหม่ เงินเดือนก็เริ่มต้นที่ประมาณ 15,000 บาท บางสายอาชีพก็ประมาณ 9,000 บาท เช่น ครูที่ไม่ได้รับใบประกอบวิชาชีพที่ทำงานตามศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จึงเห็นด้วยกับนโยบายเด็กจบใหม่ เริ่มต้นเงินเดือนที่ 25,000 บาท เพราะจะเป็นการช่วยลดปัญหาสมองไหลด้วย

ขณะที่ นายฐิติ ชิวชรัตน์ อดีตประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปี 4 มองว่า นโยบายเงินเดือน 25,000 บาท สำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีนั้น ตอบสนองกับนิสิตนักศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยทำงานมาก เพราะเท่าที่ได้คุยกับเพื่อนๆ ในรุ่นพบว่า หนึ่งในความกังวลสำหรับเด็กจบใหม่คือ เรื่องเงินเดือนที่จะได้ เพราะทราบกันดีว่า ค่าครองชีพในกรุงเทพฯ ค่อนข้างจะมีราคาสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าเดินทาง

อีกทั้งค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นในปีต่อไป ยังไม่รวมถึงการที่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงดูครอบครัว หรือพ่อแม่ที่แก่ชราลงไปเรื่อยๆ และต้นทุนที่เด็กจบใหม่ต้องแบกรับเยอะกว่าเงินเดือนที่จะได้ หากอ้างอิงตามฐานเงินเดือนในปัจจุบัน ถ้ามีนโยบายที่การันตีได้ว่า นิสิต หรือนักศึกษาเมื่อจบมหาวิทยาลัยออกมาแล้วจะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่ 25,000 บาท ก็เป็นเครื่องการันตีได้ว่า สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยมีรายรับมากกว่าต้นทุน

ขณะที่นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทนั้น นายฐิติ มองว่า ต้องดูหลายๆ องค์ประกอบในสังคมรวมกัน แต่ตามเป้าหมายภายในระยะเวลา 5 ปีของพรรคเพื่อไทยที่ต้องการจะฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้จีดีพีโตเฉลี่ย 5% มันก็สามารถทำให้ค่าแรงขั้นต่ำไปถึง 600 บาทได้ เมื่อภาคเศรษฐกิจดีขึ้น ภาคธุรกิจก็จะมีกำลังจ้างคนในอัตราที่มากขึ้น หรือจ้างด้วยเงินเดือนที่มากขึ้นตามลำดับ รวมถึงหากเศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ การจ้างคนด้วยอัตราค่าแรง 600 บาทจะไม่ได้เอื้อให้แก่นายทุนเอกชนรายใหญ่เท่านั้น แต่ยังเอื้อให้แรงงานทุกคนอีกด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ