นักโบราณคดีเจอหลุมศพ – ซินหัว รายงานว่า คณะนักโบราณคดีในมณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของ ประเทศจีน ค้นพบหลุมศพจาก ยุคราชวงศ์ถัง (ปีพ.ศ.1161-1450) จำนวน 6 หลุม โดยตั้งอยู่ที่ระดับความลึกแตกต่างกันระหว่างกำแพงเมืองโบราณที่ฝังอยู่ใต้ดิน
นายเย่ หงปิน นักวิจัยประจำสถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติจีน และผู้อำนวยการสถาบันวัตถุทางวัฒนธรรมและโบราณคดีซางชิว ระบุว่าหลุมศพทั้งหกหลุมตั้งอยู่บริเวณซากซ่งกั๋วกู่เฉิง หรือซากเมืองหลวงโบราณของแคว้นซ่งใน “ยุคชุนชิว” หรือ “ยุควสันตสารท” (770-476 ปีก่อนคริสต์ศักราช)
หลุมศพเหล่านี้ตั้งอยู่บริเวณจุดตัดของกำแพงทิศใต้ของเมืองหลวงโบราณแห่งแคว้นซ่ง และกำแพงทิศตะวันตกของเมืองโบราณซุยหยางแห่งราชวงศ์ถัง โดยกำแพงทิศตะวันตกของเมืองโบราณซุยหยางแห่งราชวงศ์ถังนั้นซ้อนทับอยู่บนกำแพงทิศใต้ของเมืองหลวงโบราณแห่งแคว้นซ่ง
คณะนักโบราณคดีขุดพบเหรียญทองแดง กระจกทองแดง ไหดินเผา และแผ่นจารึกบนหลุมศพที่ระบุวันเวลาอย่างแม่นยำ ซึ่งถือเป็นการค้นพบอันมีนัยสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเป็นหลักฐานแสดงลำดับเวลาของการเลิกใช้และก่อสร้างสองกำแพงเมืองที่มาจากต่างยุคสมัย
สถาบันบัณฑิตสังคมศาสตร์แห่งชาติระบุอีกว่ามีการค้นพบกลุ่มซากเมืองโบราณจากยุคชุนชิวจนถึงยุคราชวงศ์หมิง (ปีพ.ศ.1911-2187) บริเวณซากซ่งกั๋วกู่เฉิง โดยลำดับชั้นทางวัฒนธรรมจากต่างยุคสมัยนี้เกิดขึ้นจากการทับถมของดินตะกอนและการยกตัวของฐานรากอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของแม่น้ำเหลืองในอดีตกาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ขุดพบอีก “หมู่หลุมศพ” 21 แห่ง คาดเป็นของสุสานราชวงศ์โบราณ-เก่าแก่ 2,200 ปี
- จี๋หลินเจอซากหลุมศพ “ยุคสัมฤทธิ์” 24 แห่ง-ชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผาเกือบแสนชิ้น
- พบหลุมศพโบราณแห่งใหม่ 43 หลุม เก่าแก่จาก “ยุครณรัฐ” คาดฝังร่างแนวตั้ง