นักวิชาการเสนอปรับแก้กฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหา “การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีมาตรฐาน” จากกรณีตำรวจไซเบอร์เข้าจับกุม “น้องไข่เน่า” ดาวดังจากเว็บไซต์ Onlyfans พร้อมแฟนหนุ่ม หลังจากที่ทั้งคู่ถ่ายทำคลิปวิดีโอโป๊เปลือยและเผยแพร่เข้าสู่เว็บไซต์ Onlyfans
- ตำรวจไซเบอร์บุกรวบ “น้องไข่เน่า” ดาวดัง Onlyfans พร้อมแฟนหนุ่ม คาโรงแรมดัง
- เตือนชาวเน็ตหยุดล่วงเกินตำรวจไซเบอร์ ปมรวบ “น้องไข่เน่า” แอคเคาท์ปลอมก็ตามตัวได้
- ออกหมายเรียก “น้องไข่เน่า” สาวคนดังเว็บ OnlyFans ชักชวนให้ผู้อื่นทำคลิปอนาจาร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ Sanook โดยระบุว่า หากพิจารณาตามแง่กฎหมายอาญาของประเทศไทยแล้ว พฤติกรรมของน้องไข่เน่าและแฟนหนุ่มถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายเนื่องจากมีองค์ประกอบหลายอย่างที่เข้าข่ายในข้อกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อย่างไรก็ตาม ข้อกฎหมายดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังมีความล้าหลัง และเกิดเป็นการถกเถียงเรื่อง “ศีลธรรม” ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลหนึ่งในการจับกุมน้องไข่เน่าในครั้งนี้
ศีลธรรมเคร่งครัด แต่บังคับใช้ไม่เสมอหน้า
“การเอาศีลธรรมมาลงโทษในบางเรื่องก็อาจจะยังได้อยู่ แต่เรื่องบางเรื่อง เช่น เรื่องลามก อนาจาร เรื่องที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ มันอาจจะต้องแบ่ง อาจจะต้องทบทวน ว่ากฎหมายบ้านเรามันเคร่งเกินไปไหม มันไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ ไม่สอดคล้องกับสื่อยุคใหม่ ถามจริง ๆ ว่าคุณไปคุมได้ไหม สื่ออินเตอร์เน็ตเยอะแยะคุณจะปิดกั้นหรือลงโทษเขาไหวไหม มันอาจจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ ว่าเปลี่ยนคอนเซ็ปต์ นโยบายให้มุ่งมั่นที่จะคุ้มครอง คุมสื่อที่จะละเมิดทางเพศเด็กหรือคนที่เราต้องคุ้มครองจริง ๆ ก็จะดีขึ้น ส่วนอันอื่นก็จะเปิดกว้างมากขึ้น” ผศ.สาวตรี ชี้
“ถ้าเรายังเคร่งครัดแบบนี้ ปัญหาก็คือคุณบังคับใช้ไม่ได้จริง มันก็จะเกิดแบบนี้แหละ เราบอกว่ามันผิด แต่เรายังเห็นสื่อลามกตามห้างสรรพสินค้า ยังเห็นแจกปฏิทินโป๊กันอยู่ ซึ่งที่จริงแล้วมันก็เข้าข่ายเหมือนกัน สุดท้ายเวลาไปจับ คือจับคนดัง ๆ ทำเงินได้เยอะ ๆ เหมือนคนเป็นกระแส ก็จะใช้วิธีการแบบนี้”
นอกจากเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องศีลธรรมแล้ว สังคมยังตั้งคำถามถึงเรื่อง “สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย” ของน้องไข่เน่าอีกด้วย ซึ่งในประเด็นนี้ ผศ.สาวตรี อธิบายว่า หากจะมองว่ารัฐละเมิดสิทธิของประชาชน ก็ถือว่าทำได้ แต่ในกรณีนี้ ถือเป็นการละเมิดที่รัฐมีเหตุผลในการออกกฎหมาย เพราะต้องการคุ้มครองสังคมโดยรวม
“กฎหมายอาญาหลาย ๆ ข้อ เป็นการคุ้มครองที่ไม่ใช่การคุ้มครองปัจเจกชน แต่บางบทบางมาตรามันคุ้มครองสังคมโดยรวม ถ้าตั้งว่าเรื่องนี้ต้องเป็นเรื่องศีลธรรม เรื่องการเปิดเผยเนื้อตัว เรื่องลามกเป็นเรื่องศีลธรรม ก็หมายความว่าการใช้เหตุผลที่รัฐบอกว่า คุณจะเปลือยกายยังไงก็ได้ แต่ต้องทำในที่ลับนะ แต่ถ้าเผยแพร่เมื่อไร มันไม่ได้กระทบที่คุณ แต่มันกระทบกับสังคมโดยรวม มันส่งผลกับศีลธรรมของผู้คน ดังนั้น ละเมิดไหม เป็นเสรีภาพในการแสดงออกหรือเปล่า ก็อาจจะละเมิด แต่เมื่อละเมิดแล้ว รัฐก็จะมีข้ออ้าง ซึ่งรัฐธรรมนูญก็จะบอกว่า ถ้ามีกฎหมายห้ามเอาไว้ ถ้ามันจะกระทบศีลธรรมอันดี กระทบความสงบเรียบร้อย รัฐก็สามารถออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิ์ในเนื้อตัวร่างกายของบุคคลได้” ผศ.สาวตรีอธิบาย
กฎหมายไทยไม่เท่าทันโลก?
อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่ต้องการคุมทั้งสังคมกำลังสะท้อนว่ากฎหมายของไทยไม่เท่าทันโลก ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้การใช้กฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ดังนั้น วิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ การแก้ไขกฎหมายให้มีการแบ่งระดับชั้นไป แทนการกวาดกว้างเอาผิดทุกเคส
“ตอนนี้บอกเลยว่ามันกวาดกว้างเกินไป ก็บังคับใช้ยาก พอเป็นแบบนี้ ตำรวจก็เลือกแหละ เรื่องอะไรเขาจะไปจับคนที่ไม่มีคนดู เขาก็ต้องจับคนที่มีคนดูเยอะ ๆ แล้วก็มองว่ากระทบสังคมมาก ๆ ก็หยิบกฎหมายมาใช้ มันเลยเกิดการใช้กฎหมายที่ไม่ได้มาตรฐาน อยากจับก็จับ กลายเป็นกฎหมายไม่ได้มาตรฐานและลักลั่นมาก”
“ต้องแก้ที่วิธีคิดของคนร่างก่อนว่าคุณจะเอายังไง คุณจะควบคุมศีลธรรม ซึ่งควบคุมไม่ได้หรอก หรือมุ่งคุ้มครองไปยังกลุ่มบุคคลที่คุณต้องคุ้มครอง” ผศ.สาวตรีกล่าวปิดท้าย