นักกฎหมายชี้ โรงเรียนไม่รับเด็ก 23 คน เข้าเรียน อ้างไร้สัญชาติ ทำผิดกฎหมายและขัดมติคณะรัฐมนตรี เพราะเด็กเกิดในประเทศไทย
วันที่ 18 มี.ค. 66 นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับปรุงหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการจัดการศึกษาให้แก่นักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การที่โรงเรียนแห่งหนึ่งที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ไม่รับนักเรียนจำนวน 23 คน เข้าเรียนในโรงเรียน เป็นการกระทำที่ผิดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ และขัดมติคณะรัฐมนตรี
จากกรณี นักเรียน จำนวน 23 ราย ซึ่งเป็นเด็กที่เกิดในประเทศไทยจากพื้นที่พักพิงชั่วคราวบ้านนุโพ ถูกปฏิเสธไม่รับเข้าเรียนต่อชั้นอนุบาล 1-2 ที่ โรงเรียนแห่งหนึ่งในตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยโรงเรียนอ้างว่าการปฏิเสธไม่รับเด็กเข้าเรียนของโรงเรียนเป็นไปตามประกาศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2
ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ได้ออกประกาศเรื่องมาตรการเกี่ยวกับการรับนักเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ลงวันที่ 13 มกราคม 2566 สั่งห้ามมิให้โรงเรียนภายใต้สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 รับบุคคลดังต่อไปนี้เข้าเป็นนักเรียน คือ 1. ผู้หนีภัยจากการสู้รบที่พักอาศัยและมีชื่ออยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว หรือศูนย์อพยพ 2. คนต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยไม่ถูกกฎหมาย และ 3. บุคคลที่มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างประเทศเดินทางไปกลับบริเวณชายแดน
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การกระทำไม่รับเด็กเข้าเรียนในโรงเรียน และประกาศของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระเบียบกระทรวงศึกษาว่าด้วยหลักฐานในการรับนักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษา พ.ศ.2548 ซึ่งให้สถานศึกษาทุกแห่งมีหน้าที่ในการรับเด็กทุกคนที่อยู่ในวัยการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ เข้าเรียนในสถานศึกษา
การจัดการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐาน เป็นไปตามประกาศหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 28/2559 เรื่อง ให้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลี่ยมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษาและความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งประกาศคสช.ฉบับนี้ยังมีผลบังคับอยู่ในปัจจุบันเพราะไม่มีการประกาศยกเลิก
นอกจากนี้ยังขัดต่อมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ที่ขยายโอกาสทางการศึกษา เป็นเปิดกว้างให้ทุกคนที่อาศัยในประเทศ รวมทั้งบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย สามารถเข้าเรียนได้ โดยไม่จำกัดระดับ ประเภท หรือพื้นที่การศึกษา รวมทั้งจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้แก่สถานศึกษา ซึ่งจัดการศึกษาเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในอัตราเดียวกับค่าใช้จ่ายรายหัวที่จัดสรรให้แก่เด็กไทย
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการได้ดูแลสิทธิทางการศึกษาและจัดเงินอุดหนุนรายหัวแก่เด็กทุกคนในประเทศไทยเป็นอย่างดี ตามหลักการศึกษาเพื่อปวงชน หรือ Education for all จนได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศและสหประชาชาติ ซึ่งแต่เดิมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2และโรงเรียนในพื้นที่ชายแดนก็ดำเนินการรับเด็กทุกคนเข้าเรียนเป็นปกติตลอดมา
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ขอให้กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ในฐานะผู้บังคับบัญชาและกำกับดูแล กำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 และโรงเรียนที่ไม่รับเด็กเข้าเรียน ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและนโยบายของรัฐอย่างถูกต้องต่อไป