ท่องเที่ยวไต้หวัน “ส่อกระทบ” รบ.ต่างชาติถึงขั้นเตือนภัยมอไซค์เยอะ-ไร้ทางเท้า

Home » ท่องเที่ยวไต้หวัน “ส่อกระทบ” รบ.ต่างชาติถึงขั้นเตือนภัยมอไซค์เยอะ-ไร้ทางเท้า



ท่องเที่ยวไต้หวัน “ส่อกระทบ” รบ.ต่างชาติถึงขั้นเตือนภัยมอไซค์เยอะ-ไร้ทางเท้า

วันที่ 6 ธ.ค. ซีเอ็นเอ็นรายงานกระแสวิตกกังวลถึงอนาคตอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไต้หวัน แม้การเปิดชายแดนอย่างเป็นทางการหลังผ่านพ้นวิกฤตโรคโควิด-19 จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเดินทางต่างชาติเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ด้วยความขึ้นชื่อเรื่องอาหารและวิวทิวทัศน์สวยงามซึ่งรัฐบาลให้คำมั่นกับประชาชนว่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้ได้ 10 ล้านคนภายใน 3 ปี เพื่อทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ผู้มาเยือน ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ต่างตำหนิไต้หวันในเรื่องความปลอดภัยการจราจรบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับขี่หรือคนเดินถนน

cr. REUTERS

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐถึงกับออกแถลงเตือนพลเมืองของตนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไต้หวันว่า “โปรดระวังสกู๊ตเตอร์และรถจักรยานยนต์จำนวนมากบนท้องถนน และโปรดระวังขณะข้ามถนน เนื่องจากผู้ขับขี่จำนวนมากไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร” ขณะที่รัฐบาลแคนาดาเตือนว่า “ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และสกู๊ตเตอร์ในไต้หวันไม่เคารพกฎจราจร พวกเขาประมาทอย่างมาก

นายเรย์ หยาง ผู้ก่อตั้งเพจเฟสบุ๊กในชื่อ “ไต้หวันคือนรกของคนเดินถนน” (Taiwan is a living hell for pedestrians) ซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 13,000 คน กล่าวถึงความเสี่ยงบนท้องถนนในไต้หวันว่า “เมืองต่างๆ ในไต้หวันส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีทางเท้า ตามสถิติของรัฐบาลพบว่าเขตเมืองของไต้หวันมีทางเท้าแค่ 42% เนื่องจากถนนค่อนข้างแคบ แถมข้างทางก็เต็มไปด้วยรถสกู๊ตเตอร์และรถยนต์จอดขวาง รวมถึงเสาไฟกับต้นไม้ที่วางเต็มหน้าร้าน ทำให้ต้องลงไปเดินบนถนนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ยิ่งไปกว่านั้นทางเท้ายังมีลักษณะขึ้นๆ ลงๆ ไม่เรียบ ซึ่งในไต้หวันเรียกว่าฉีลั่ว ส่งผลเสียต่อการเดินเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องอุ้มลูกเดิน และผู้ใช้รถเข็นต้องใช้ทางที่ซิกแซก บางทีต้องไปใช้ทางบนถนนซึ่งถือว่าเสี่ยงอย่างยิ่ง” นายหยางกล่าวเพิ่มเติม

cr. AFP

ขณะที่นายเฉิง ซื่อจุย ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเฉิงกง ในเมืองไถหนาน ของไต้หวัน กล่าวว่า “โดยทั่วไปคนไต้หวันมีจิตใจดี แต่ขณะที่พวกเขาขับรถความเป็นมิตรจะหายไปทันที

จากตัวเลขอุบัติเหตุจราจรในไต้หวันปี 2564 พบว่ามีผู้เสียชีวิต 2,962 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 12.67 รายต่อประชากร 100,000 คน สูงกว่าอัตราส่วนในสหราชอาณาจักรถึง 5 เท่า และสูงกว่าญี่ปุ่นถึง 6 เท่า นายชาลร์ส หลิน รองประธานบริหารสมาคมรักษาความปลอดภัยและการจราจรของไต้หวัน กล่าวว่า “สาเหตุที่ทำให้ถนนในไต้หวันไม่ค่อยมีทางเท้าเพราะขาดความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม และการออกแบบถนนนั้นไม่ชัดเจน อีกทั้งยังมีการออกแบบเน้นรถยนต์เป็นศูนย์กลาง และลำดับความสำคัญของยานพาหนะส่วนตัวมากกว่าการขนส่งสาธารณะ คนขี่จักรยาน และคนเดินถนน

ไต้หวันเริ่มพัฒนาถนนในปี 2503 โดยมีต้นแบบมาจากสหรัฐซึ่งให้ความสำคัญรถยนต์มากกว่าผู้คน อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้คนเริ่มหันมาใช้รถจักรยานยนต์และทางเท้ามากขึ้น ไต้หวันกลับล้าหลัง อีกทั้งหน่วยงานรัฐบาลพยายามขัดขวางความพยายามในการผลักดันการเปลี่ยนแปลง

cr. AFP

นอกจากความกังวลด้านความปลอดภัยและการไม่มีทางเดินเท้าแล้ว การขาดแคลนระบบขนส่งมวลชนของไต้หวันและอาจจำกัดการพัฒนาการท่องเที่ยวในไต้หวันอีกด้วย เป็นเวลาหลายปีที่รัฐบาลไต้หวันตระหนักถึงปัญหาความปลอดภัยทางถนน และพยายามแก้ไขปัญหานี้เป็นหลักผ่านการรณรงค์สาธารณะให้คาดเข็มขัดนิรภัย และสวมหมวกกันน็อค รวมถึงการปราบปรามการเมาแล้วขับ การสร้างทางเท้าชั่วคราว การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของถนน รวมถึงปรับปรุงถนนในบางพื้นที่

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ