ทุ่ม5.2หมื่นล้านบ. บิลแอนด์เมลินดาเกตส์หนุนเกษตรกรรายย่อยสู้โลกร้อน

Home » ทุ่ม5.2หมื่นล้านบ. บิลแอนด์เมลินดาเกตส์หนุนเกษตรกรรายย่อยสู้โลกร้อน



ทุ่ม5.2หมื่นล้านบ. บิลแอนด์เมลินดาเกตส์หนุนเกษตรกรรายย่อยสู้โลกร้อน

ทุ่ม5.2หมื่นล้านบ. – วันที่ 7 พ.ย. รอยเตอร์รายงานว่า มูลนิธิ “บิลแอนด์เมลินดาเกตส์” ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์และอดีตภรรยาทุ่มเงิน 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเกษตรกรรายย่อยทั่วโลกรับมือผลกระทบจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP) ครั้งที่ 27 ที่เมืองชาม เอล ชีกห์ ประเทศอียิปต์ และอุณหภูมิเฉลี่ยโลกที่คาดว่าจะเพิ่มถึง 2.8 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้

อุณหภูมิดังกล่าวทะลุเส้นตายที่นักวิทยาศาสตร์วางไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส โดยหากทะลุไปแล้วจะไม่มีวันแก้ไขให้หวนกลับมาเป็นดังเดิมได้อีก ขณะที่การประเมินใหม่พบว่าข้อตกลงปารีสนั้นแม้จะปฏิบัติตามได้ทั้งหมดก็จะลดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกลงได้ไม่ถึง 1 องศาเซลเซียสเท่านั้น

สหประชาชาติหรือยูเอ็น ระบุว่า ประชาคมโลกยังดำเนินการแก้ไขปัญหาโลกร้อนไม่เพียงพอและค่าใช้จ่ายรายปีเพื่อรับมือกับโลกร้อนจะสูงขึ้นเป็นกว่า 12 ล้านล้านบาทต่อปีภายในปี 2573 โดยยูเอ็นเรียกร้องให้นานาชาติผนึกกำลังร่วมกันมิฉะนั้นจะต้องย่อยยับไปด้วยกันทั้งหมด

นายบิล เกตส์ ประธานร่วมมูลนิธิบิลแอนด์เมลินดาเกตส์ กล่าวว่า ประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน ต้องพึ่งพาอาหารจากเกษตรกรรายย่อยทั่วโลก แต่เม็ดเงินที่ไหลลงไปช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้รับมือกับภาวะโลกร้อนนั้นมีไม่ถึงร้อยละ 2 ของเงินทั้งหมดที่ใช้แก้ไขโลกร้อนทั่วโลก

“วิกฤตผลกระทบจากโลกร้อนกำลังสร้างความเสียหายทุกวันทั้งต่อผู้คนและเศรษฐกิจ เราจำเป็นต้องมีงบประมาณเพียงพอในการรักษาความมั่นคงทางการเกษตรและนวัตกรรมเพื่อช่วยให้เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้สามารถปรับตัวดำรงอยู่และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจโลกต่อไปได้”

นายเกตส์ ระบุว่า เงินบริจาคส่วนใหญ่ของมูลนิธิจะถูกใช้สนับสนุนการพัฒนาโครงการเกษตรกรรมอัจฉริยะและเทคโนโลยีดิจิตอล รวมถึงช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นผู้หญิง

รายงานระบุว่า ผู้หญิงถือเป็นแรงงานในวงการเกษตรกรรมของชาติกำลังพัฒนาคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 43 แต่ส่วนใหญ่แล้วเข้าถึงแหล่งเงินทุน การศึกษา และความช่วยเหลือทางกฏหมายได้น้อยกว่าเกษตรกรที่เป็นผู้ชาย

“ผู้หญิงเป็นแรงงานหลักในการทำการเกษตรของชาติในทวีปแอฟริกาซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของอุตสาหกรรมอาหาร แต่กลับมีสิทธิในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและคุณภาพชีวิตได้ไม่เท่ากับผู้ชาย โดยเฉพาะการปรับตัวเพื่อดำรงอยู่ท่ามกลางปัญหาโลกร้อน” เกตส์ ระบุ

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ