วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 จากกรณี “พรรคก้าวไกล” เสนอ “ยุบ กอ.รมน.” โดย นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย เชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี เขต 6 พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร คนที่ 6 แถลงยืนยันความจำเป็นของการเสนอร่างกฎหมาย ยุบ กอ.รมน. โดยมีความจำเป็นข้อใหญ่ๆ ดังนี้
1.เพื่อทำให้ความมั่นคง ไม่ใช่เรื่องที่ถูกผูกขาดอยู่เพียงบทบาทและหน้าที่ของกองทัพเท่านั้น แต่ต้องเป็นเรื่องของประชาชน ถูกกระจายออกสู่มือของหน่วยงานพลเรือน ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลพลเรือน
2.เพื่อให้การบริหารราชการ มีความโปร่งใสและชอบธรรม เพราะที่ผ่านมามีข้อถกเถียงและข้อกล่าวหาต่อ กอ.รมน. จำนวนมาก เกี่ยวกับการใช้งบประมาณที่มากเกินจริงและไม่โปร่งใส
อาทิเช่น กรณีล่าสุดเรื่องบัญชีผี หรือกรณีปฏิบัติการทางทหารที่เกี่ยวกับเด็ก ที่ครั้งหนึ่ง กอ.รมน. เคยระบุในเอกสารงบประมาณถึงตัวชี้วัด คือการพยายามเปลี่ยนความคิดเด็กอายุ 1-5 ขวบ ซึ่งต้องถามว่าเป็นกรอบคิดแบบไหนที่มองเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งแบบนั้น ตั้งแต่อดีตพรรคอนาคตใหม่จนมาถึงพรรคก้าวไกล กอ.รมน. เป็นองค์กรที่ถูกตรวจสอบอย่างหนัก โดยเฉพาะปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) เราพบว่าการพยายามด้อยค่าแพร่มลทินของ กอ.รมน. ส่งผลด้านกลับทำให้ผู้คนเกิดความไม่เชื่อมั่นต่ออำนาจรัฐ ปฏิบัติการเหล่านี้เป็นหนึ่งในงานการเมืองที่สำคัญ ถ้าเราปล่อยให้หน่วยงานภายใต้กรอบคิดแบบนี้ทำงานต่อไป จะจำกัดโอกาสและทางเลือกของสังคมไทยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและจุดบรรจบที่ลงตัวในทางการเมืองที่จะอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐกับประชาชน “เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ทิศทางการคลี่คลายความขัดแย้งนำโดยวิธีคิดแบบทหาร ทั้งที่หน่วยงานความมั่นคง ควรมีหน้าที่และอำนาจจำกัดอยู่เพียงการรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน ควรทำหน้าที่ของรั้ว ไม่ใช่เอารั้วเข้ามาในห้องนั่งเล่นในพื้นที่ของพลเรือน ถ้าเรามี กอ.รมน. ซึ่งเป็นองค์กรตกทอดจากยุคสงครามเย็น ที่มีมุมมองต่อประชาชนว่าเป็นภัยคุกคาม การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจะทำได้ยากลำบาก”
หน่วยงาน กอ.รมน. คืออะไร
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในพระราชอาณาจักร ย่อเป็น กอ.รมน. เป็นหน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานกลาง เพื่อต่อต้านภัยคุกคามที่มุ่งทำลายผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ หน่วยงานดังกล่าวได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายการเมืองของกองทัพไทย เดิมรับผิดชอบต่อการปราบปรามกลุ่มฝ่ายซ้ายตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 นอกจากนี้ยังมีการดำเนินโครงการกิจการพลเรือนหลายอย่าง รวมทั้งการพัฒนาชนบทและปฏิบัติการจิตวิทยา เพื่อแทรกซึมแวดวงสังคมและการเมืองของประเทศซึ่งยังดำเนินต่อมาแม้ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์หมดไปแล้ว อำนาจของ กอ.รมน. ยิ่งได้รับการส่งเสริมหลังรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้นำทิศทางการเมืองของประเทศ นับเป็นเครื่องมือที่อภิชนอนุรักษนิยมสามารถบั่นทอนและควบคุมประชาธิปไตยและเป็นวิธีที่กองทัพใช้รักษาอำนาจ โดยในเดือนมิถุนายน 2550 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติอนุมัติร่างกฎหมายความมั่งคงแห่งชาติซึ่งให้ กอ.รมน. มีอำนาจกว้างขวางในการรับมือภัยคุกคามต่อประเทศ โดยให้หัวหน้า กอ.รมน. สามารถดำเนินมาตรการความมั่นคงอย่างค้นโดยไม่ต้องขออนุญาตนายกรัฐมนตรี หลังรัฐประหารปี 2557 มีการขยายอำนาจของ กอ.รมน. ให้สามารถตีความภัยคุกคามได้เอง และเพิ่มงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- ปปส. ชี้ เกณฑ์พกยาบ้าใหม่ จะทำให้เกิดผู้ค้ารายย่อยมากขึ้น
- ลานจอดพร้อม! ปิยบุตร เตรียมถก นางแบก-ด้อมส้ม หลังโดนทัวร์ลงไม่พัก
- เปิดงบ กอ.รมน. 10 ปีที่ผ่านมา ใช้งบไปกว่า แสนล้าน พีคสุดช่วงลุงตู่
กอ.รมน. หลังรัฐประหาร ปี 2557
ปัจจุบันมโนทัศน์ภัยคุกคามของ กอ.รมน. ได้ขยายรวมไปถึงเรื่องชนกลุ่มน้อยและผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย การลักลอบค้ายาเสพติด อาชญากรรมไซเบอร์ การก่อการร้าย การทำลายป่าและความขัดแย้งเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ผู้มีอิทธิพลและแก๊งมาเฟีย และภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังคงมีบทบาทในการ “พัฒนาชาติ” ซึ่งรวมถึงกิจการทางสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างกว้างขวาง “รัฐบาลประยุทธ์” แก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติความมั่นคงฯ โดยยก กอ.รมน. ให้เป็นแม่ข่ายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งยังทำให้ กอ.รมน. เป็นผู้ควบคุมงานความมั่นคงของประเทศทั้งหมด โดยสำนักงบประมาณมีหน้าที่ต้องจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานดังกล่าวด้วย และให้หน่วยงานของรัฐจัดสรรคนมายังหน่วยงานตามที่มีการร้องขอ กฎหมายใหม่ยังตั้งคณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงและผู้บังคับบัญชาหน่วยงานความมั่นคงต่าง ๆ ทำหน้าที่คู่ขนานไปกับสภาความมั่นคงแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานโดยตรงที่มีอยู่แล้ว ภารกิจของ กอ.รมน. ถูกวิจารณ์ว่า สามารถกำหนดเองได้ว่าสถานการณ์ใดเป็นภัยคุกคาม และในอนาคตอาจเป็น “รัฐบาลน้อย” เพราะมีอำนาจรอบด้านไม่ต่างจากรัฐบาลที่ควบคุมประเทศอยู่ “ในเดือนพฤศจิกายน 2561 มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ตั้งคณะกรรมการบริหารความมั่นคงภายในภาค และคณะกรรมการบริหารความมั่นคงภายในจังหวัด โดยให้ทหารดำรงตำแหน่งประธาน และมีตำรวจและข้าราชการพลเรือนเป็นรองประธาน ทำให้เกิดข้อวิจารณ์ว่ากองทัพอาจใช้เพื่อออกคำสั่งด้วยเหตุผลทางการเมือง”
ข้อตกลง พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ยุบ กอ.รมน.
ทั้งนี้ ล่าสุด นายเชตวัน เตือประโคน สส.ปทุมธานี เขต 6 พรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นการยุบ กอ.รมน. พร้อมโพสต์รูปภาพข้อตกลงระหว่าง พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล ในช่วงที่กำลังจัดตั้งรัฐบาลแรกๆ ว่า “ครั้งหนึ่งเคย เห็นด้วย” อยู่ในข้อ 4 ของข้อตกลงนี้ครับ (พรรคก้าวไกล และ พรรคเพื่อไทย ยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และ ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่ พรรคก้าวไกล เสนอ) ดังนั้น ผมจึงหวังว่าคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งกำลังจะใช้อำนาจตนเองแต่เพียงผู้เดียว “ลงนาม” ว่าจะให้กฎหมายฉบับนี้หรือไม่? ได้ให้การรับรอง เพื่อที่เรื่องนี้จะได้ถูกนำมาพิจารณากันในสภาผู้แทนราษฎร และก็หวังจะได้เห็น ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย, ส.ส.พรรคประชาชาติ และเพื่อนๆ ส.ส.อีกหลายๆ พรรคที่มีจุดยืน ไม่อยากเห็น “รัฐซ้อนรัฐ” และการขยายอำนาจของ กอ.รมน. ได้ยกมือสนับสนุน ร่างกฎหมายนี้ของพรรคก้าวไกลครับ
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY