ทารกไข้สูง 39.9 องศา หมอเห็น "กระหม่อม" รีบเจาะน้ำไขสันหลัง หวั่นไวรัสทำลายสมอง

Home » ทารกไข้สูง 39.9 องศา หมอเห็น "กระหม่อม" รีบเจาะน้ำไขสันหลัง หวั่นไวรัสทำลายสมอง

เด็กชายวัย 2 เดือน มีไข้สูง 39.9 องศา แพทย์เห็น “กระหม่อมโป่ง” สัญชาตญาณเตือนโรคร้ายแรง หวั่นทำลายสมองทารก

“หยู เจิ้นถัง” กุมารแพทย์โรงพยาบาลในไถจง ประเทศจีน เปิดเผยว่า ทารกมีไข้สูงขณะถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาล อุณหภูมิร่างกายสูงถึง 39.9 องศา ไม่มีความผิดปกติใดๆ ในลำคอ หรือแขนขา แต่พบว่ากระหม่อมโป่งนูนขึ้นมา

หลังจากทำการแจ้งผู้ปกครองเพื่อขอทำการเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง ซึ่งผลชี้ว่ามีค่าสูงกว่าปกติ มีสีเหลือง และเหนียวข้น จึงตรวจกรดนิวคลีอิกของไวรัส พบว่าติดเชื้อ “ฮิวแมนพารีโชไวรัส” (human parechovirus) ซึ่งเป็นเอนเทอโรไวรัสชนิดหนึ่ง แต่จะเกี่ยวข้องกับเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือไม่ ยังคงต้องได้รับการตรวจเพื่อเพิ่มเติม

คุณหมออธิบายด้วยว่า พารีโชไวรัสส่วนใหญ่ติดต่อผ่านละอองทางเดินหายใจ หรืออุจจาระ-ช่องปาก และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในทารก เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อาการทางคลินิกมักไม่มีอาการหรือไม่รุนแรง เช่น มีผื่น หรือความผิดปกติของระบบเดินอาหาร และระบบทางเดินหายใจ

ทั้งนี้ พารีโชไวรัสอาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ง่าย เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในทารกแรกเกิด หรือการติดเชื้อที่ระบบประสาทส่วนกลาง โชคดีที่อาการของทารกรายนี้ดีขึ้นหลังจากได้รับอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ซึ่งเป็นแอนติบอดี ที่ปกป้องร่างกายโดยการเกาะติดกับแบคทีเรียและไวรัส

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองของทารกแรกเกิดยังไม่แข็งแรงเพียงพอ การติดเชื้อและมีไข้จึงอาจส่งผลต่อเยื่อหุ้มสมอง อีกทั้งอาการในระยะเริ่มแรกมักไม่ปรากฎชัดเจน ต้องได้รับการตรวจร่างกายและระบบประสาทอย่างระมัดระวัง แม้ว่าการตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำได้ยากมากก็ตาม

ส่วนอาการต่างๆ เช่น พลังชีวิตลดลง แขนขาอ่อนแรง และแม้แต่อาการชัก จะปรากฏให้เห็นในระยะกลางเป็นต้นไป ซึ่งหมายความว่าช่วงนี้สมองของเด็กอาจถูกบุกรุกแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ปกครองพบอาการคล้ายๆ กัน ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ