“รมว.ตรีนุช” แจ้งหน่วยงาน สังกัด กระทรวงศึกษาธิการ ปลดป้าย “รัฐมนตรี” พร้อมสั่ง ศธจ.-เขตพื้นที่ฯ เร่งให้ความรู้เลือกตั้ง นักเรียน นักศึกษา
23 มี.ค. 66 – น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในบันทึกข้อความสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร
แจ้งไปยังปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.), เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.), เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.), เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) และหน่วยงานในกำกับของศธ.
ให้ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ อันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา อย่างเคร่งครัด โดยแนวทางปฏิบัติดังกล่าวกำหนดว่า
ในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับ ให้รัฐมนตรีระมัดระวังในการดำเนินการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ที่มีรูปภาพของรัฐมนตรีปรากฎอยู่ ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณา หรือ การโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางวิทยุและโทรทัศน์ ควรจะปลดป้าย หรือ ยกเลิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าวทั้งหมด รวมถึงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีรูปภาพของรัฐมนตรีปรากฎอยู่ด้วย
“จากแนวทางปฏิบัติดังกล่าว จึงขอให้ผู้บริหารทุกสังกัด แจ้งไปยังหน่วยงานในสังกัด ทั้งสถานศึกษา และหน่วยงานราชการ ให้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากสถานศึกษาหรือหน่วยงานมีป้ายผ้าใบไวนิลประชาสัมพันธ์งาน กิจกรรม ที่มีรูปภาพของดิฉัน หรือ รัฐมนตรีท่านอื่นปรากฏอยู่
รวมถึงการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ขอให้ปลดออกก่อน และในระหว่างนี้ก็ไม่ควรขึ้นป้ายหรือโฆษณากิจกรรมใดๆ ที่หมิ่นเหม่ สุ่มเสี่ยง หรืออาจตีความได้ว่าไม่เป็นกลางทำผิดกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.)” น.ส.ตรีนุช กล่าว
น.ส.ตรีนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ขอให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา (สพท.) ประสานกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ในการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แก่ นักเรียน นักศึกษา
เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา เห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิ์เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งในปี 2566 นี้ เพราะมีการ กาบัตร 2 ใบ โดย ใบหนึ่งเลือกคน หรือ ส.ส.เขต ส่วนอีกใบเลือกพรรค หรือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ซึ่งเบอร์ของพรรค อาจไม่เหมือนเบอร์ของ ส.ส.เขต และ เบอร์ของ ส.ส.เขตพรรคเดียวกัน อาจไม่เหมือนกันในแต่และเขต เมื่อนักเรียน นักศึกษา เข้าใจ ก็จะสามารถเข้าคูหาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้อย่างถูกต้องไม่เป็นบัตรเสีย