ด่วน! พิธา รอดคดีหุ้นไอทีวี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไอทีวีไม่ได้ทำกิจการสื่อ

Home » ด่วน! พิธา รอดคดีหุ้นไอทีวี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไอทีวีไม่ได้ทำกิจการสื่อ

วันที่ 24 มกราคม จากกรณีที่องค์คณะตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุม ปรึกษาหารือ ลงมติ และออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ร้อง) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัยกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ถูกร้อง) เป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

โดยศาลแถลงคำวินิจฉัยในเวลา 14.00 น. ผ่านช่องทางยูทูบ “ศาลรัฐธรรมนูญ” 

ศาลวินิจฉัยว่า การถือหุ้นแม้แต่เพียงหุ้นเดียว ก็ถือว่าเป็นการถือหุ้นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้แล้ว ไม่เกี่ยวว่าจะถือเยอะหรือน้อย หรือมีอำนาจในการควบคุม 

บัญชีผู้ถือหุ้น ปรากฏชื่อนายพิธา เป็นผู้ถือหุ้นลำดับที่ 7,061 จำนวน 42,000 หุ้น โดยถือในชื่อของตนเอง ไม่ได้ระบุหมายเหตุว่าถือแทน หรือถือในฐานะผู้จัดการมรดกแต่อย่างใด และถือหุ้นเรื่อยมา จนกระทั่งได้มีการโอนหุ้นให้นาย ภาษิณ ลิ้มเจริญรัตน์ ในวันที่ 25 พ.ค. 2566 

ศาลเห็นว่า การปรากฏชื่อนายพิธา มีชื่อถือหุ้นในบัญชีผู้ถือหุ้นไอทีวี และไม่ได้โอนหุ้นให้ถูกต้องเรียบร้อยก่อนจะลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นความบกพร่องของนายพิธาเอง เพราะตอนที่มาโอนหุ้นในปี 2566 ก็สามารถโอนได้ โอนสำเร็จภายในวันเดียว เมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธต่างๆ จึงเห็นว่าข้อโต้แย้งของนายพิธา ฟังไม่ขึ้น ถือว่านายพิธายังคงเป็นผู้ถือหุ้นไอทีวีอยู่ ในวันที่พรรคก้าวไกล ยื่นรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แบบบัญชีรายชื่อ

ขณะที่บริษัทไอทีวี ยังคงดำเนินกิจการ ไม่ได้เลิกกิจการ ประกอบกับเอกสารที่ไอทีวีนำส่งงบการเงิน ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ แม้มีข้อโต้แย้งว่า สถาทีโทรทัศน์ไอทีวี ถูกยกเลิกการออกอากาศไปแล้ว

การพิจารณาว่าบริษัทใดเป็นสื่อหรือไม่นั้น ไม่สามารถพิจารณาเพียงเฉพาะข้อมูลในการจดทะเบียนได้เท่านั้น เมื่อพิจารณาจากเอกสารของสำนักงานประกันสังคม ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ ระบุสินค้าและบริการว่า ไม่ได้ดำเนินกิจการ เนื่องจากรอผลคดี มีรายได้จากผลประกอบการลงทุน และดอกเบี้ยรับ และเมื่อพิจารณา ภงด.50 ระบุว่า รายรับจากการประกอบกิจการเป็น 0 แต่มีรายได้อื่น จากการลงทุน และดอกเบี้ยรับ

นอกจากนี้ยังพิจารณาการที่ สปน.บอกเลิกสัญญาบริษัทไอทีวี ทำให้สิทธิ์คลื่นความถี่ในการออกอากาศ ตกเป็นสิทธิ์ของ สปน. และบริษัท ไอทีวี ไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนสิทธิ์คลื่นความถี่ ถึงแม้จะชนะคดีที่ค้างอยู่ในขณะนี้ ก็ไม่สามารถกลับมาออกอากาศได้อีก จึงสรุปได้ว่า บริษัทไอทีวี ไม่มีสิทธิ์เป็นสถานีโทรทัศน์นับตั้งแต่วันที่ สปน.บอกเลิกสัญญา รวมทั้งไม่มีรายรับจากการประกอบกิจการสื่อโทรทัศน์นับแต่นั้นเป็นต้นมา 

นับตั้งแต่ สปน. บอกเลิกสัญญา จึงถือว่า บริษัทไอทีวี ไม่ได้ทำกิจการสื่อวิทยุโทรทัศน์หรือสื่อสิ่งพิมพ์นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และไม่ได้เป็นผู้ได้รับอนุญาต ให้เป็นผู้กระจายเสียงวิทบยุโทรทัศน์ตามกฎหมาย 

ณ วันที่ นายพิธา ถือหุ้นไอทีวี บริษัทไม่ได้มีสถานะเป็นสื่อ จึงถือว่า สมาชิกภาพ สส. ของนายพิธา ไม่ได้สิ้นสุดลงตามคำร้อง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ