ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ระบุถึง ความน่ากลัวของเชื้อโควิด 19 ว่า
ข้อมูลชุดนี้เผยแพร่โดยทีมวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่ออกไปสำรวจประชากรของสัตว์ป่าในรัฐ Virginia โดยสำรวจหาเชื้อไวรัสโดยใช้การตรวจด้วย RT-PCR หรือ ใช้การตรวจหาแอนติบอดีในเลือดสัตว์เพื่อเป็นการยืนยันว่าสัตว์ตัวนั้นครั้งหนึ่งเคยติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 มาก่อน ตัวเลขออกมาชัดเจนครับว่า ไวรัส SARS-CoV-2 ไม่ได้จำกัดอยู่ในประชากรมนุษย์อีกต่อไปแล้ว ไวรัสมีการกระโดดจากคนไปหาสัตว์หลายชนิด
โดยเฉพาะบริเวณที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ป่ามาก ๆ สัตว์ตระกูลกระรอก โอพอสซัม สกั๊งค์ และ แร็กคูน เป็นกลุ่มที่มีแอนติบอดีต่อเชื้ออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีโอกาสที่เกิดจากเชื้อแพร่กระจายอยู่ในประชากรในสัตว์ตระกูลเหล่านี้
นักวิจัยเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของไวรัสที่ไม่พบในไวรัสที่แยกมาจากมนุษย์บ้างในบางตำแหน่ง ซึ่งหมายถึงไวรัสกลุ่มที่อยู่ในสัตว์เหล่านี้กำลังเปลี่ยนตัวเองแยกออกจากไวรัสเริ่มต้น เหมือนที่พบในประชากรมนุษย์เช่นเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจเป็นผลดีถ้าเปลี่ยนไปในทางที่ห่างจากไวรัสที่ติดคนมากขึ้น คือ จะติดคนยากขึ้นไปเรื่อย ๆ หรือ อาจเป็นไปในทางไม่ดี คือ ความสามารถติดคนยังได้อยู่แต่การเปลี่ยนแปลงมีมากจนคุณสมบัติของไวรัสเปลี่ยนแปลงไปทั้งกลไกการก่อโรค และ การหนีภูมิคุ้มกัน
ซึ่งถ้าเกิดแบบกรณีหลังจะเป็นเรื่องที่สร้างปัญหาได้อีก การที่ไวรัสไปอยู่ได้สิ่งมีชีวิตหลายชนิดไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะโอกาสจะเกิดอะไรที่คาดเดายากจะมากขึ้นไปอีก เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวสัตว์แต่ละชนิดจะไม่เหมือนกันการเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของไวรัสในมนุษย์อย่างต่อเนื่องยังจำเป็นมาก ๆ
ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY