ญี่ปุ่นประหาร3นักโทษ ชี้นายกฯคนใหม่ประเดิมเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี2562
ญี่ปุ่นประหาร3นักโทษ – วันที่ 21 ธ.ค. ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ทางการญี่ปุ่นประหารชีวิตนักโทษ 3 รายด้วยการแขวนคอ ถือเป็นการประหารชีวิตนักโทษครั้งแรกตั้งแต่ปี 2562 และเป็นครั้งแรกภายใต้รัฐบาลที่นำโดยนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่
กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า หนึ่งในนักโทษที่ถูกประหาร คือ นายยะสึทากะ ฟูจิชิโระ อายุ 65 ปี ก่อเหตุฆาตกรรมผู้อื่นรวม 7 ราย ในจำนวนนี้ รวมถึงป้าแท้ๆ และเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ปี 2547
อีกสองคนถัดมาเป็นนายโทโมอากิ ทาคาเนซาวะ อายุ 54 ปี และนายมิตสึโนริ โอโนงาวะ อายุ 44 ปี ก่อเหตุฆาตกรรมพนักงานให้บริการ 2 ราย ในบ่อนเกมปาจิงโกะ เมื่อปี 2546
นายโยชิฮิสะ ฟูรุคาวะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า นักโทษที่ถูกประหารชีวิตนั้นเป็นผู้รับผิดชอบในคดีอุกฉกรรจ์ เพราะฆ่าผู้อื่นด้วยเหตุผลที่เห็นแก่ตัวอย่างมาก และสร้างความระทมทุกข์อย่างแสนสาหัสให้กับผู้ที่สูญเสีย
ข้อมูลจากองค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า โทษประหารชีวิตในประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นการแขวนคอ โดยนักโทษที่ถูกประหารนั้นมักทราบถึงโทษดังกล่าวล่วงหน้าเพียงไม่กี่ชั่วโมง ส่วนครอบครัวของนักโทษนั้นจะได้รับแจ้งจากทางการหลังการสำเร็จโทษเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น
กระบวนการลงโทษและการประหารชีวิตดังกล่าวของญี่ปุ่นมักสร้างความเดือดดาลให้กับบรรดานักสิทธิมนุษยชนที่ต่อต้านและเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหาร
นางเคียรา ซานจิออร์จิโอ ที่ปรึกษาด้านโทษประหารชีวิตจากองค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวว่า การขึ้นดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น นับเป็นโอกาสที่ญี่ปุ่นจะสร้างพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนไปในทางที่ดีขึ้น
“ทว่า การประหารชีวิตที่ล่าสุดต่อเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์ในวันนี้ ถือเป็นสิ่งตอกย้ำถึงข้อครหาอันเลวร้ายถึงความไร้ซึ่งความเคารพสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์” และว่า “เป็นการพลาดโอกาสของญี่ปุ่นที่จะยุติโทษประหาร หลังประเทศนี้ไม่ประหารนักโทษมานานถึง 2 ปี”
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศไม่กี่แห่งในโลกที่ยังคงมีโทษประหารชีวิต นอกเหนือไปจากนี้ในกลุ่มชาติอุตสาหกรรม ได้แก่ บางมลรัฐของสหรัฐอเมริกา โดยองค์การนิรโทษกรรมสากลเคยเรียกร้องให้ญี่ปุ่นบัญญัติกฎหมายนิรโทษกรรมให้นักโทษประหารทั้งหมดเพื่อปูทางไปสู่การยุติโทษประหาร
กรณีดังกล่าวส่งผลให้มีนักโทษประหาร 2 คน ยื่นฟ้องรัฐบาลญี่ปุ่น เรียกร้องให้ยกเลิกกระบวนการที่ไร้มนุษยธรรม พร้อมเรียกร้องค่าเสียหายชดเชย เมื่อเดือนพ.ย. อย่างไรก็ดี ทางการญี่ปุ่นมีท่าทีต่อต้านการยุติโทษประหาร และชาวญี่ปุ่นจำนวนมากยังสนับสนุนอยู่
นายเซอิจิ คิฮาระ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิตเป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวพันไปถึงรากฐานของกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่น
“การตัดสินประหารชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่น่าลำบากใจอยู่แล้ว ทว่า ต้องยอมรับว่าอาชญากรรมร้ายแรงเหล่านี้ก็ยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่อง ผมจึงไม่คิดว่าการยกเลิกโทษดังกล่าวตอนนี้จะเป็นผลดี” คิฮาระ ระบุ