ราชบุรี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผัก ต.บางโตนด อ.โพธาราม ส่วนใหญ่อาชีพปลูกข้าว ใช้เวลาว่างปลูกผักสลัดปลอดสารพิษ ตั้งเป้าหารายได้เสริม ปัจจุบันยึดอาชีพหลัก สร้างรายได้จุนเจือครอบครัว
นายเสรี มุ่งเมือง เกษตรอำเภอโพธาราม พร้อม นายธนดล พงษ์โพธิ์ ประธานกลุ่มฯ และเจ้าหน้าที่ พาชมผักสลัดปลอดสารพิษนานาชนิด ถูกปลูกอยู่บนแปลงแบบยกแคร่ ควบคุมการให้น้ำแบบผ่านโทรศัพท์มือถือ Smart Farmer
นายธนดล พงษ์โพธิ์ ประธานกลุ่มฯ เปิดเผยว่า วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผักตำบลบางโตนด เกิดจากการรวมตัวกันของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ต้องเผชิญกับปัญหา ภัยแล้ง ไม่มีน้ำทำนาข้าว และภัยน้ำท่วม จนนาข้าวเสียหาย ทำให้ไม่มีรายได้มาจุนเจือครอบครัว ต้องรอความช่วยเหลือจากภาครัฐ
จึงต้องการหารายได้เสริมช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนา กระทั่งมาลงตัวที่อาชีพการปลูกผักสลัดแบบยกแคร่ เพื่อลดการใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช และยังสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังสามารถนำมาบริโภค เพื่อลดค่าครองชีพในครัวเรือน
ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 30 ราย คิดเป็นเนื้อที่รวมประมาณ 20 ไร่ โดยสมาชิกจะนำเมล็ดพันธุ์ผักสลัดหลากหลายสายพันธุ์มากกว่า 10 ชนิด อาทิ มินิคอส เรดบัตตาเวียร์ บัตเตอร์เฮด ฟิลเล่ย์ เคล และบล็อคโคลี มาเพาะ เมื่ออายุได้ 7 วัน จึงนำต้นกล้าที่ได้ลงปลูกบนแปลงแบบยกแคร่
ที่ผ่านการปรุงดิน ผสมสารชีวภัณฑ์ป้องกันเชื้อรา และแมลงศัตรูพืช อาทิ ก้อนเชื้อเห็ดเรืองแสง ไตรโคเดอร์มา และ บิววาเรีย ทำการรดน้ำเช้า-เย็น โดยจะควบคุมระบบน้ำแบบพ่นฝอยผ่านโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน เมื่อผักสลัดอายุครบ 40 – 45 วัน ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่ละสัปดาห์จะสามารถเก็บผลผลิตได้มากกว่า 100 กิโลกรัม
ทั้งนี้ ทางกลุ่มมีการจำหน่าย ทั้งในรูปแบบผักสด ราคากิโลกรัมละ 80 บาท และแบบแปรรูปเป็นสลัดพร้อมรับประทาน อนาคตทางกลุ่มได้ตั้งเป้าหมายที่จะเปิดเป็นศูนย์กลางรับสินค้าเกษตรปลอดภัยจากเกษตรกร เพื่อนำไปจำหน่ายต่ออีกทอดหนึ่งในราคาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
นายเสรี มุ่งเมือง เกษตรอำเภอโพธาราม เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตร อ.โพธาราม ได้เข้ามาส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ ต.บางโตนด ตามโครงการเสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรายย่อย ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยทางสำนักงานฯ ได้เป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำ ตลอดจนการพาไปศึกษาดูงานอาชีพต่างๆ
นอกจากนี้ยังได้เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องของการปรับปรุงดิน และการกำจัดแมลงศัตรูพืช เพื่อให้ผักสลัดที่ได้ออกมามีคุณภาพ
ส่วนด้านการตลาด ได้สนับสนุนให้ทางกลุ่มไปเปิดร้านจำหน่ายที่ศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการสินค้าเกษตรตลาดเกษตรกรจังหวัดราชบุรี ทุกวันอังคารกับวันศุกร์ และตลาดเกษตรกรหน้าที่ว่าการอำเภอโพธาราม ทุกวันจันทร์
สำหรับผู้ที่สนใจต้องการเข้าไปศึกษาเรียนรู้การปลูกผักสลัดแบบยกแคร่ หรือจะอุดหนุนสินค้าของเกษตรกร สามารถติดต่อได้ที่เพจเฟสบุ๊ค “ผักสลัด Bangtanod” โทรศัพท์ 081-829-1301