ชวนรู้จัก User Generated Content กลยุทธ์ก้าวไกล พิชิตชัยชนะในการเลือกตั้ง

Home » ชวนรู้จัก User Generated Content กลยุทธ์ก้าวไกล พิชิตชัยชนะในการเลือกตั้ง



ชวนรู้จัก User Generated Content หรือ UGC กลยุทธ์ก้าวไกล พิชิตชัยชนะในการเลือกตั้ง จากกระแสความประทับใจตัวบุคคลหรือความประทับใจพรรค

เรียกว่ากระแสมาแรงจริง ๆ กับชัยชนะในการเลือกตั้ง 2566 ที่ล่มทั้งแชมป์เก่า เจ้าถิ่นประจำ รวมถึงครองใจคนทั้งจังหวัดจนนำไปสู่คะแนนเสียงที่พรรคก้าวไกลได้รับมหาศาล ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทางพรรคก้าวไกลใช้ในการสื่อสารและการตลาดออนไลน์ คือ User Generated Content หรือเรียกสั้น ๆ ว่า UGC

เนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น ( UGC ) คือ เนื้อหาที่สร้างขึ้นโดยตัวบุคคล ผู้บริโภค หรือผู้ใช้งานจริง ที่ชื่นชอบตัวตนของแบรนด์จริง ๆ ไม่ใช่การชื่นชอบเพราะตัวแทนอย่างเป็นทางการของธุรกิจหรือความชอบในอินฟลูเอนเซอร์และนักแสดง

จุดแข็งของเนื้อหา UGC คือ ความน่าเชื่อถือที่มากกว่าข้อความทางการตลาด คอนเทนต์ของแบรนด์ และการโฆษณา โดยกลวิธีอาจใช้การสร้างกระแสจากการอัปเดตโซเชียลมีเดียทั้งช่องติ๊กต็อก, เฟซบุู๊ก, อินสตาแกรม, การรีวิว, การวิจารณ์, คลิปวิดีโอ, ภาพถ่าย, พอดคาสต์ รวมถึงการเล่าต่อปากต่อปาก เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ ความคิดเห็น และความประทับใจในสินค้าหรือบริการของแบรนด์ เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภครายอื่น ๆ

หากใครที่ไม่เคยสนใจสินค้าหรือแบรนด์เลยสักครั้ง การใช้การตลาดแบบ UGC สามารถแสดงให้ผู้คนเห็นถึงความสามารถของผลิตภัณฑ์หรือบริการเฉพาะ พร้อมช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์นำไปสู่การเพิ่มโอกาสในการขาย เป็นที่น่าจดจำ และยกระดับความน่าเชื่อถือให้ผู้คนเข้าใจจุดเด่นของแบรนด์มากยิ่งขึ้น เช่น การสร้างแคมเปญที่น่าสนใจในบางช่วงเวลา การสร้างแฮชแท็กเพื่อมีการชิงรางวัลจนก่อให้เกิดคอนเทนต์ทางโซเชียลมากมายและมีการแชร์จากผู้ใช้จริงมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่าง คอนเทนต์ UGC ของพรรคก้าวไกล ได้แก่ การหาเสียงแบบทันสมัย การปราศรัยและการให้ประชาชนรับรู้นโยบายในรูปแบบคลิป ภาพถ่าย และการใช้เพลงเพิ่มความติดหูปล่อยทางช่องทางยูทูบและติ๊กต็อก ทำให้เกิดกระแสตอบรับเป็นวงกว้าง ติด #ก้าวไกล #พรรคก้าวไกล🧡และ #ก้าวไกลทั้งแผ่นดิน แม้ว่าใครจะไม่รู้จักพรรคในตอนแรกก็จะเกิดความสงสัยเข้าไปค้นหาข้อมูลและเริ่มทำความเข้าใจความเป็นพรรคก้าวไกลด้วยตนเอง

จนกระทั่งเกิดวลีฮิตกลายเป็นขวัญใจชาวโซเชียลอย่าง ส้มรักพ่อ ที่มาจากประโยค ฟ้ารักพ่อ ในละครเรื่อง “ดอกส้มสีทอง” ที่จุดกระแสขึ้นมาตั้งแต่สมัยเลือกตั้งปี 2562 เนื่องจากประชาชนหลาย ๆ คนในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73ได้ตะโกน ฟ้ารักพ่อ กับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ขึ้นมาหลายครั้ง จนเกิด #ฟ้ารักพ่อ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

พร้อมทั้งล่าสุดก็เกิดกระแสแบบเดียวกันกับพิธา โดยมีคลิปวิดีโอของแฟนคลับพรรคก้าวไกลที่พูดกับพิธาว่า “ส้มรักพ่อ” และได้รับการตอบกลับมาว่า “พ่อก็รักส้ม” จนกลายเป็นการตั้งชื่อแฟนคลับพรรคว่า ส้ม หรือเรียกกันในภาษาวัยรุ่น ด้อมส้ม

นำไปสู่การสร้างฟิลเตอร์ติ๊กต็อก การโพสต์คลิปต่าง ๆ ของว่าที่ผู้สมัครสส.และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในอิริยาบถต่าง ๆ ทั้งขณะหาเสียง รวมถึงโพสต์รูปวัยเด็ก ตลอดจนสวมใส่เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับสีส้ม การแต่งหน้าโทนสีส้ม รวมถึงหลากหลายเพจและแบรนด์ดังรวมใจกันสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับตัวเลข 31 ในโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเพื่อสนับสนุนพรรค

นี่คือสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง เรียกว่า หัวคะแนนแบบ Organic ซึ่งได้รับมาจากความเชื่อใจ ไว้ใจ และความนับถือของประชาชน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ