จิสด้า นำร่อง อุทัยฯ ใช้แอป ‘เช็กแล้ง’ ส่องตรงข้อมูลดาวเทียม ช่วยเกษตรกรลดเสี่ยงภัยแล้ง

Home » จิสด้า นำร่อง อุทัยฯ ใช้แอป ‘เช็กแล้ง’ ส่องตรงข้อมูลดาวเทียม ช่วยเกษตรกรลดเสี่ยงภัยแล้ง



จิสด้า นำร่อง อุทัยธานี ใช้แอปพลิเคชัน “เช็คแล้ง” ด้วยข้อมูลจากดาวเทียม ช่วยเกษตรกรลดผลกระทบและความเสียหาย จากภัยแล้ง

16 มี.ค. 66 – น.ส.กานดาศรี ลิมปาคม รองผอ.ภารกิจด้านภูมิสารสนเทศของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ หรือ จิสด้า (GISTDA) เปิดเผยว่า จิสด้า ร่วมกับสำนักปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

ภายใต้ทุนอุดหนุนวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้ร่วมพัฒนาแอปพลิเคชัน “เช็กแล้ง” ซึ่งเป็นแอปที่ใช้ในการติดตามความเสี่ยง และความเสียหายของแปลงเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

น.ส.กานดาศรี กล่าวว่า ข้อมูลจากเช็กแล้ง เป็นการนำข้อมูลจากดาวเทียม ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลจากสถานีตรวจวัดที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้ง มาวิเคราะห์ร่วมและแสดงผล เพื่อให้เกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้งานได้ด้วยตัวเอง

โดยการระบุพิกัดพร้อมขอบเขตแปลงเกษตรของตนเอง เพื่อให้เกษตรกรรู้ว่า ในพื้นที่แปลงเกษตรของตนเองมีความเสี่ยงมากหรือน้อยขนาดไหนกับภัยแล้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งนี้ แอปฯ “เช็กแล้ง” ถือเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการตัดสินใจให้กับเกษตรกร สำหรับการวางแผนการเพาะปลูกได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยแล้งได้

น.ส.กานดาศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุดจิสด้า และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดย ดร.สมชาย ใบม่วง ผู้ตรวจสอบทางวิชาการ และทีมงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ อ.สว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี ระหว่างวันที่ 15-16 มี.ค. 66 ซึ่งเป็น 1 ในพื้นที่นำร่องการอบรมการใช้งานแอปพลิเคชันเช็กแล้ง

ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากเกษตรกรในพื้นที่ และหน่วยงานระดับจังหวัด ผ่านคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดอุทัยธานี (กชภจ.) คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอสว่างอารมณ์ (กชภอ.) และอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.)

โดยได้ร่วมทดสอบและใช้งานเช็คแล้งในพื้นที่จริง เพื่อตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งด้วยข้อมูลจากดาวเทียม พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการปรับปรุงและพัฒนาแพลตฟอร์มฯ สำหรับการใช้งานต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ