จากปากคนฟิจิ : วิถีชีวิตและเกียรติยศ สู่ความเป็นเลิศในกีฬารักบี้ 7 คน

Home » จากปากคนฟิจิ : วิถีชีวิตและเกียรติยศ สู่ความเป็นเลิศในกีฬารักบี้ 7 คน
จากปากคนฟิจิ : วิถีชีวิตและเกียรติยศ สู่ความเป็นเลิศในกีฬารักบี้ 7 คน

รักบี้ อาจไม่ใช่กีฬาที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยนัก แต่สำหรับชาวตะวันตก โดยเฉพาะประเทศที่มีความเกี่ยวข้องกับเครือจักรภพ รักบี้ถือเป็นกีฬาที่มีเกียรติและได้รับความนิยมเสมอมา

เมื่อรักบี้ก้าวเท้าสู่มหกรรมกีฬาโอลิมปิก ในรูปแบบการแข่งขันรักบี้ 7 คน เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2016 คนทั่วโลกต่างจับตามองว่าประเทศใดจะเป็นผู้ชนะ … แต่ชาติที่คว้าเหรียญทองกลับไม่ใช่ชื่อที่เราคุ้นเคย เช่น อังกฤษ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ หรือ แอฟริกาใต้

ฟิจิ ประเทศขนาดเล็กในโอเชียเนียที่มีประชากรเพียง 9 แสนคน เป็นชาติเดียวที่เคยคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันรักบี้ชาย 7 คนในโอลิมปิก เกมส์ ซึ่งพวกเขาได้ตอกย้ำความสำเร็จตรงนี้อีกครั้ง จากความสำเร็จล่าสุดในโตเกียวเกมส์ ในแบบที่ชาติมหาอำนาจได้แต่มองตาปริบๆ

เพื่อไขข้อข้องใจให้กับสิ่งที่เกิดขึ้น Main Satnd ขอชวนมาพูดคุยกับ โลเต้ ไรคาบูล่า โค้ชรักบี้ 7 คนทีมชาติไทย ที่เกิดและเติบโตในประเทศฟิจิ รวมถึงเป็นอดีตนักรักบี้ทีมชาตินิวซีแลนด์ ถึงวิถีชีวิตและเกียรติยศของกีฬารักบี้ที่ผูกผันกับชาวฟิจิ จนนำมาสู่ผลงานอันน่าเหลือเชื่อในโอลิมปิกที่ผ่านมา

เติบโตขึ้นมากับเกียรติยศ

“สำหรับชาวฟิจิ กีฬารักบี้คือแพชชั่น มันอยู่คู่กับประเทศเรามาตั้งแต่ก่อนพ่อแม่ของผมจะเกิด”

โลเต้ ไรคาบูล่า เปิดฉากการสนทนาด้วยประโยคที่ชวนให้เราย้อนกลับไปมองว่า กีฬารักบี้ผูกพันกับชาวฟิจิมายาวนานแค่ไหน ทำไมกีฬาชนิดหนึ่งถึงเป็นความคลั่งไคล้ของผู้คนในประเทศได้ขนาดนี้

1ย้อนกลับไปช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชาวฟิจิรู้จักกีฬารักบี้เป็นครั้งแรกจากการเผยแพร่ของชาวบริติช และชาวนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับการเผยแพร่กีฬาฟุตบอลในประเทศแห่งนี้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว รักบี้กลับเป็นเกมกีฬาที่สามารถมัดใจชาวฟิจิเอาไว้ได้ และกลายเป็นกีฬาประจำดินแดนแห่งนี้นับตั้งแต่นั้น

ชาวฟิจิเล่นกีฬารักบี้ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น 15 คน หรือ 7 คน แต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จนักกับการแข่งขันรักบี้ทีมใหญ่ เนื่องจากความสำเร็จถูกผูกขาดโดยชาติใหญ่ หนึ่งในนั้นคือ ขุนพลทีมชาตินิวซีแลนด์ หรือ All Blacks ผู้เป็นอริตลอดกาลของชาวฟิจิ

เวลาผ่านเลยไปถึงช่วงปี 1970s การแข่งขันรักบี้ 7 คน เริ่มได้รับความนิยมในระดับนานาชาติ จนก่อให้เกิดการจัดแข่งขัน Hong Kong Sevens ทัวร์นาเมนต์รักบี้ 7 คนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ณ เวลานั้น ฟิจิเป็นหนึ่งในชาติที่เข้าร่วมการแข่งขัน โดยไม่มีใครคาดหวังว่าพวกเขาจะประสบความสำเร็จในรายการนี้ หากมองย้อนไปยังผลงานที่ผ่านมา

ทีมรักบี้ฟิจิได้หักปากกาเซียนทุกสำนัก พวกเขาคว้าแชมป์รายการ Hong Kong Sevens ในปี 1977 และ 1978 ก่อนกลับมาคว้าแชมป์อีกครั้งในปี 1980 ส่งผลให้พวกเขากลายเป็นชาติที่คว้าแชมป์รายการดังกล่าวมากที่สุด และยังคงรักษาความสำเร็จนี้ไว้ได้ถึงปัจจุบัน จากการคว้าแชมป์ทัวร์เมนต์ Hong Kong Sevens มาแล้วรวม 19 สมัย

2ความสำเร็จของรักบี้ 7 คนทีมชาติฟิจิ ถือเป็นเกียรติยศที่คนทั้งชาติภาคภูมิใจ ความยิ่งใหญ่ของขุนพลทั้ง 7 ที่คว้าแชมป์สามสมัยแรกถูกเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น โลเต้ เล่าให้ฟังว่า คุณปู่และคุณพ่อของเขาต่างมีความฝันอยากเป็นนักกีฬารักบี้ทีมชาติฟิจิกันทั้งสิ้น และเมื่อเขาเติบโตขึ้นมา จึงได้เห็นความบ้าคลั่งของกีฬาชนิดนี้ด้วยตัวเอง ไม่มีทางที่เป้าหมายในอนาคตของเขาจะเป็นอย่างอื่นไปได้นอกจากการเป็น นักกีฬารักบี้ 7 คน

“เมื่อคุณเกิดและเติบโตขึ้นมาในฟิจิ รักบี้คือภาพทั้งหมดที่คุณเห็น มันคือความทรงจำในวัยเด็กของคุณ”

“ชาวฟิจิบ้าคลั่งกีฬารักบี้มาก เปรียบได้กับกีฬาฟุตบอลในยุโรป พวกเขาจะหยุดงานหรือมีวันหยุดราชการ เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะจากกีฬารักบี้ แม้แต่บาทหลวงในโบสถ์ก็ยังต้องรีบทำกิจกรรมทางศาสนาให้เสร็จสิ้น เพื่อให้ทุกคนกลับบ้านทันไปดูรักบี้ และเมื่อคุณเดินทางไปที่โรงเรียนในวันต่อมา คุณครูจะพูดถึงแต่ชัยชนะของรักบี้ทีมชาติฟิจิ”

“นั่นคือเหตุผลว่าทำไมชาวฟิจิถึงใฝ่ฝันอยากเป็นนักกีฬารักบี้ เพราะว่าพวกเราเติบโตขึ้นมากับเกียรติยศและความสำเร็จของรักบี้ทีมชาติฟิจิ คุณจะรู้ว่าชัยชนะแต่ละนัดมีค่าต่อประเทศแห่งนี้ มีค่าต่อผู้คนในประเทศแห่งนี้ และมีค่าต่อครอบครัวของคุณมากแค่ไหน”

พัฒนาจากกิจกรรมรากหญ้า

โลเต้ ไรคาบูล่า ไม่ใช่เด็กเพียงคนเดียวที่ใฝ่ฝันอยากประสบความสำเร็จในฐานะนักกีฬารักบี้ แต่เยาวชนแทบทุกคนในประเทศฟิจิ ต่างเดินไปข้างหน้าด้วยความฝันเดียวกัน หรืออย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็มีงานอดิเรกเป็นการเล่นรักบี้ หากนึกภาพตามง่าย ๆ

3ภาพที่เกิดขึ้นในประเทศฟิจิ ไม่ต่างอะไรจากความฝันของเด็กไทยที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลและอยากเดินตามความฝันในฐานะนักฟุตบอลอาชีพ และถึงแม้บางคนจะเตะฟุตบอลไม่เก่งมากนัก เราก็ยังหาเวลาว่างช่วงพักเที่ยงหรือหลังเลิกเรียน เพื่อเตะฟุตบอลกับเพื่อน ๆ อยู่ดี เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นที่ฟิจิด้วยเช่นกัน เพียงแต่เปลี่ยนเป็นกีฬารักบี้เท่านั้น

“ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องสงสัยเลย” โลเต้กล่าว เมื่อเราถามว่า เด็กทุกคนในฟิจิอยากเป็นนักกีฬารักบี้ใช่หรือไม่ ?

“เด็กฟิจิจะรวมตัวกันเล่นรักบี้หลังเลิกเรียน ไม่ก็อาจจะเป็นช่วงพักเที่ยงหรือเวลาว่างระหว่างเรียน เราออกไปเล่นรักบี้ในสนาม แม้แต่เด็กที่อายุน้อยมาก ๆ ประมาณ 5-6 ขวบ พวกเขาขอแค่มีอะไรสักอย่างถืออยู่ในมือ เพื่อออกไปวิ่งเล่นบนสนามหญ้า เล่นสนุกกับการรับลูกรักบี้ หรือได้แทคเกิลกับเพื่อน ๆ แล้วจินตนาการว่ากำลังเล่นอยู่ในทัวร์นาเมนต์ที่มันยิ่งใหญ่มาก”

“นี่คือเหตุผลที่ทำให้ชาวฟิจิพัฒนาทักษะของตัวเองตั้งแต่ยังเด็ก พวกเขามองสิ่งที่เกิดขึ้นในทีวี และลอกเลียนแบบมันด้วยตัวเองในสนามหญ้า ทั้งการเคลื่อนที่และการใช้ความเร็วของพวกเขา คือสิ่งที่พัฒนาขึ้นได้ด้วยตัวเองมาตั้งแต่เด็ก โดยไม่ต้องพึ่งพาการฝึกซ้อมแบบซีเรียส”

4โลเต้เปิดเผยว่า กว่าระบบการฝึกซ้อมแบบจริงจังจะเข้ามา เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาฟิจิต้องรอให้ถึงช่วงอายุ 16-17 ปี เพราะฟิจิให้ความสำคัญกับการเล่นรักบี้เพื่อความสนุกในฐานะกิจกรรมสันทนาการระหว่างครอบครัวหรือชุมชน เกมรักบี้ในฟิจิโดยทั่วไปจึงมีลักษณะคล้ายกับ “สตรีท ฟุตบอล” ในประเทศบราซิล

ชาวฟิจิขอแค่มีพื้นที่โล่งสักแห่ง, ลูกรักบี้สักใบ และกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง เพียงแค่นี้พวกเขาก็สามารถจับกลุ่มเล่นกีฬารักบี้ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น นอกจากความสนุกจากกีฬาที่พวกเขารักเท่านั้น

“ชาวฟิจิเล่นรักบี้เพื่อความสนุก และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในฟิจิ หากคุณขับรถไปตามถนนต่าง ๆ คุณจะเห็นพวกเขาเล่นรักบี้ตลอดทาง ผ่านไปหนึ่งนาทีคุณจะเห็นคนเล่นรักบี้กลุ่มหนึ่ง ผ่านไปสองนาทีคุณจะเห็นคนเล่นรักบี้อีกกลุ่ม”

ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่าเกมรักบี้ในฟิจิจะมีแต่การเล่นริมถนนที่ไร้ความหมายเสมอไป โลเต้เล่าให้ฟังว่า มีการแข่งขันรักบี้ 7 คน มากกว่า 100 ทัวร์นาเมนต์ที่จัดขึ้นภายในประเทศฟิจิ เพื่อเปิดโอกาสให้นักกีฬาระดับชุมชนได้ลงชิงชัย ซึ่งการแข่งขันเหล่านี้กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ไม่ได้จำกัดตัวแค่ในเมืองหลวงหรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

โลเต้มองว่า การแข่งขันรักบี้ 7 คนในฟิจิที่มีขึ้นแทบจะวันเว้นวัน ส่งผลให้ความสามารถของนักกีฬารักบี้ฟิจิ ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ระดับรากหญ้า ซึ่งแตกต่างจากประสบการณ์ที่เขาพบในนิวซีแลนด์ ที่แม้จะมีการพัฒนานักกีฬาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งความรู้ทางเทคนิคและแทคติกที่ถูกต้อง แต่กลับขาดการพัฒนาจากรากหญ้าเหมือนที่ฟิจิ ที่ส่งเสริมให้ทุกคนเล่นรักบี้เพื่อความสนุกมาตั้งแต่เด็ก หรือการได้ชิงชัยในทัวร์นาเมนต์ชุมชนเมื่อเติบใหญ่ขึ้นมา

5“มันเป็นเรื่องง่าย ๆ ถ้าคุณอยากเก่งกีฬารักบี้ 7 คน คุณต้องเล่นกีฬารักบี้ 7 คน” โลเต้ กล่าวถึงเหตุผลที่ชาวฟิจิกลายเป็นราชากีฬารักบี้ 7 คน

“ผมขอเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในนิวซีแลนด์ให้ฟัง พวกเราเคยเจอปัญหาในการยกระดับทีมรักบี้ 7 คน เพราะการแข่งขันรักบี้ 7 คนในนิวซีแลนด์มีไม่มากนัก กว่าจะมีหนึ่งทัวร์นาเมนต์ต้องรอถึง 6 เดือน แต่ในฟิจิ คุณสามารถพบการแข่งขันรักบี้ 7 คน ราว 10 ทัวร์นาเมนต์ ภายในหนึ่งสัปดาห์”

“ไม่ว่าคุณจะเดินทางไปยังตะวันตก ตะวันออก หรือ ตอนเหนือ คุณก็สามารถพบเจอการแข่งขันรักบี้ 7 คนในทุกพื้นที่ และทุกการแข่งขันมีเงินรางวัลที่จับต้องได้จริง” 

“การแข่งขันรักบี้ในฟิจิจึงมีมาตรฐานสูงมาก ผมเห็นทีมจากสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ เดินทางไปแข่งขันรักบี้ 7 คนที่ฟิจิ และแน่นอน พวกเขาถูกยำเละ ไม่มีทางเลยที่คุณจะได้เห็นทีมจากต่างประเทศสองทีมเจอกันในรอบชิงชนะเลิศ”

ราชาแห่งกีฬารักบี้ 7 คน

การพัฒนาความแข็งแกร่งของนักกีฬารักบี้จากเวทีรากหญ้า ส่งผลให้นักกีฬารักบี้ทีมชาติฟิจิมีความสามารถเฉพาะตัวค่อนข้างสูง และมีความเข้าใจในการเล่นเกมรุกที่ร้ายกาจ ไม่ต่างจากนักฟุตบอลในทวีปอเมริกาใต้ ที่เชี่ยวชาญเรื่องการโจมตีคู่ต่อสู้ด้วยทักษะฟุตบอลอันสวยงามมากกว่าการเล่นตามแทคติก

โลเต้ซึ่งเป็นอดีตนักกีฬารักบี้ 7 คนทีมชาตินิวซีแลนด์ (เขาย้ายไปเรียนต่อที่นิวซีแลนด์ จึงได้ลงเล่นให้กับประเทศดังกล่าว) และเคยเผชิญหน้ากับรักบี้ 7 คนทีมชาติฟิจิในสนามแข่งขัน เปรียบเทียบคู่แข่งของเขาว่า

ทีมชาติฟิจิให้ความรู้สึกไม่ต่างจากทีมฟุตบอลจากทวีปอเมริกาใต้ ที่มีจุดเด่นเรื่องการเคลื่อนที่ และเกมรุกที่ดุดัน รวมถึงทีมเวิร์กในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งการยกตัวอย่างนี้ก็พอจะทำให้เรารู้ว่า เหตุใดฟิจิจึงครองความยิ่งใหญ่ในกีฬารักบี้ 7 คน ไม่ต่างจากที่บราซิลเป็นราชาแห่งโลกฟุตบอล

6“คุณคาดเดาอะไรจากพวกเขาไม่ได้เลย วิธีการเล่นมันโกลาหลมาก ซึ่งนั่นก็เป็นวิธีที่ทุกคนเล่นรักบี้ในฟิจิ พวกเขามีความสามารถเฉพาะตัวที่ดีมาก แม้เมื่อก่อนจะมีปัญหาเรื่องพลาดการแทคเกิลบ่อย แต่ตอนนี้มีการจ้างโค้ชต่างชาติเข้ามา เพื่อพัฒนาจุดอ่อนในเกมรับ และช่วยให้พวกเขาแทคเกิลอย่างถูกวิธี” โลเต้ บอกเล่าความแข็งแกร่งของรักบี้ 7 คนทีมชาติฟิจิ จากการเผชิญกับทีมหมายเลขหนึ่งของโลกมาแล้วด้วยตัวเอง

“สิ่งหนึ่งที่ผมบอกได้คือ นักรักบี้ฟิจิอ่านเกมได้เก่งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่พวกเขาถือบอล นักรักบี้ฟิจิจะรู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะเข้า เมื่อไหร่ควรจะถอย มันยากมากที่จะต้องรับมือกับทีมฟิจิ เมื่อพวกเขาเล่นเกมรุก ทุกครั้งที่คุณแทคเกิลพวกเขา คุณต้องมั่นใจว่ามีสักคนมาคอยรับลูกเอาไว้ ไม่อย่างนั้น จะมีผู้เล่นฟิจิสักคนเข้ามาคว้าลูกไปทันที”

“ผมมองว่า มันได้มาจากพื้นฐานที่พวกเขาเริ่มมาตั้งแต่ตอนเด็ก คือ การถือบอลแล้ววิ่งออกไปโดยไม่คิดอะไร หรือ การฝึกขว้างลูกมหัศจรรย์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สิ่งสำคัญคือ พวกเขาเข้าใจว่าบอลที่ขว้างออกไปกำลังจะไปตกที่ตรงไหน และเพื่อนร่วมทีมก็อ่านออกว่า บอลถูกขว้างไปตรงนั้นเพื่ออะไร การเล่นกับฟิจิจึงยากเสมอ”

สำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่นอกภูมิภาคโอเชียเนีย อาจไม่รู้ว่าความยิ่งใหญ่ของรักบี้ 7 คนของทีมชาติฟิจินั้นเหนือกว่าอริร่วมภูมิภาค ทั้ง นิวซีแลนด์ และ ออสเตรเลีย และสร้างความแปลกใจไม่มากก็น้อย เพราะถ้าคุณเคยดูรักบี้ผ่านตามาบ้าง ชื่อของขุนพล “ออลแบล็คส์” หรือ “วัลลาบีส์” น่าจะเคยผ่านหูมาบ้าง ในฐานะผู้ชนะรักบี้ชิงแชมป์โลกหลายสมัย ซึ่งฟิจิไม่เคยใกล้เคียงจุดนั้นเลย

แต่เมื่อเป็นกีฬารักบี้ 7 คน ฟิจิกลับไล่ต้อนสองชาติมหาอำนาจแห่งวงการรักบี้ 15 คน ท่ามกลางความสงสัยของผู้คนทั่วโลก โลเต้อธิบายว่า ส่วนหนึ่งที่ทีมรักบี้ 7 คนประสบความสำเร็จในระดับโลก เป็นเพราะความล้มเหลวของพวกเขาในรักบี้ 15 คน และในทางกลับกัน เหตุผลที่นิวซีแลนด์ หรือ ออสเตรเลีย ไม่สามารถครองความยิ่งใหญ่ในรักบี้ 7 คนได้ เป็นเพราะความสำเร็จจากรักบี้ 15 คนเช่นกัน

7“เมื่อก้าวเข้าสู่การแข่งขัน 15 คน นักกีฬาจำเป็นต้องฝึกฝนความเข้าใจทางเทคนิคและแทคติกที่มากกว่า หากคุณดูการพัฒนาเทคนิคของนักกีฬาในประเทศอย่างออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ หรือ อังกฤษ คุณต้องเริ่มเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งการแทคเกิลหรือการแย่งลูกอย่างถูกวิธี แต่สำหรับฟิจิ พวกเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคนิคมากนักตอนที่นักกีฬายังเด็ก”

“ส่วนในนิวซีแลนด์ รักบี้ 7 คนก็ได้รับความนิยมเช่นกัน แต่ไม่เท่ากับกีฬารักบี้ 15 คน พวกเราถูกบดบังโดยออลแบล็คส์ ผมตัวอย่างกรณีนี้ นิวซีแลนด์เพิ่งคว้าแชมป์โลกคริกเก็ตไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทุกคนฉลองชัยชนะกันข้ามคืน ไม่มีใครสนใจเรื่องการกักตัว ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นทุกกีฬา แม้แต่ฟุตบอล เมื่อพวกเขาชนะสักเกม มันเป็นเรื่องใหญ่ในนิวซีแลนด์ แต่มันก็แค่คืนเดียว”

“สำหรับ ออลแบล็คส์ หากมีการแข่งขันนัดใหญ่ ทุกคนจะคุยกันถึงแมตช์นั้นก่อนเริ่มการแข่งขันหนึ่งสัปดาห์ และถ้าพวกเขาชนะ พวกเขาจะพูดถึงเกมถัดไป และพูดถึงเกมต่อไปเรื่อย ๆ มันคือออลแบล็คส์ที่ไม่มีวันหยุด แม้รักบี้ 7 คนจะเพิ่งคว้าเหรียญเงินมาจากโอลิมปิกครั้งล่าสุด แต่อีกไม่นานกระแสจะหายไป เพราะออลแบล็คส์กำลังจะลงแข่งขัน และด้วยผลงานของพวกเขาที่ผ่านมาจึงมีคนสนใจเยอะกว่ามาก”

“แต่ในฟิจิ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับนิวซีแลนด์ เพราะทีมรักบี้ 7 คนของพวกเขา คือ ‘ออลแบล็คส์แห่งฟิจิ’ คุณสามารถฟังข่าวของพวกเขาได้จากวิทยุ เห็นพวกเขาได้ในโทรทัศน์ มันทำให้มีคนติดตามทีมรักบี้ 7 คนมากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ทีมรักบี้ 7 คนของฟิจิจึงดีมาก แต่รักบี้ 15 คนจะแตกต่างออกไป เมื่อคุณเทียบกับมาตรฐานของนิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย หรือ แอฟริกาใต้”

8แพชชั่นที่แตกต่าง ความนิยมที่สวนทาง ส่งผลให้เห็นเด่นชัดในสนาม เพราะท้ายที่สุดแล้ว นักกีฬารักบี้ 7 คนของทีมชาติฟิจิ ต่างลงสนามด้วยความมุ่งมั่น และความภูมิใจในเกียรติยศของทีมที่สั่งสมมา ในสายของโลเต้ ไม่มีรักบี้ 7 คนทีมใดบนโลกใบนี้ที่ลงสนามด้วยแพชชั่นซึ่งมากเท่ากับทีมชาติฟิจิ และนั่นดูเหมือนจะเป็นอีกเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยให้ขุนพลทีมชาติฟิจิครองบัลลังก์ราชาของกีฬาประเภทนี้

“มันเริ่มต้นมาจากวัยเด็กด้วยเหมือนกัน นักรักบี้ฟิจิเคยมองความสำเร็จนี้จากทีวี พวกเขาฝันถึงมันมาตลอด นั่นทำให้การเจอกับพวกเขาเป็นงานยาก เพราะพวกเขาทุ่มเทและวิ่งไปทั่ว คุณไม่มีทางที่จะจัดการนักรักบี้ฟิจิจนอยู่หมัดด้วยตัวคนเดียว พวกเขาสามารถจะเอาชนะคุณในการดวล 1-1 ได้เสมอ”

ความหมายของเหรียญทองโอลิมปิก

รักบี้ 7 คนทีมชาติฟิจิ ครองความยิ่งใหญ่ในกีฬาชนิดนี้มานานหลายสิบปี แต่อย่างที่เราทราบกันดีว่ารักบี้ 7 คน ไม่ได้รับความนิยมมากนักในประเทศนอกเหนือจากเครือจักรภพ เพราะกีฬารักบี้ที่ส่งออกสู่สายตาชาวโลกนั้น ล้วนเป็นรักบี้ 15 คนเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งฟิจิไม่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันรูปแบบนี้เท่าใดนัก

ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้คนทั้งโลกรู้จักพวกเขาจริง ๆ จึงมาจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อการแข่งขันรักบี้ 7 คน ถูกบรรจุเข้าสู่โอลิมปิกเป็นครั้งแรก และเป็นทีมชาติฟิจิที่สามารถคว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญแรกของประเทศ นับตั้งแต่ส่งนักกีฬาไปร่วมแข่งในโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 1956

9“มันเป็นเรื่องใหญ่มาก ผมจำได้ว่าตอนปี 2016 หลังจากพวกเขาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกที่บราซิล โค้ชชาวอังกฤษ (เบน ไรอัน) ได้รับสิทธิเป็นพลเมืองฟิจิ และได้รับที่ดินส่วนหนึ่งของประเทศ ผมคิดว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เหรียญทองจากโอลิมปิกมีความหมายต่อชาวฟิจิมากแค่ไหน”

เมื่อโอลิมปิก เกมส์ 2020 มาถึง รักบี้ 7 คนทีมชาติฟิจิ สามารถทำผลงานอันน่าตกตะลึงได้อีกครั้ง ด้วยการคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันทีมชาย และมากไปกว่านั้น ยังคว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันทีมหญิง สำหรับโลเต้แล้ว นี่คือการยกระดับกีฬารักบี้ในฟิจิไปอีกขั้น จากเดิมที่มีเพียงเด็กผู้ชายที่ใฝ่ฝันถึงความสำเร็จในฐานนักกีฬาทีมชาติ แต่ตอนนี้ ความนิยมของกีฬารักบี้ในฟิจิ กระจายตัวไปสู่ผู้คนทุกเพศทุกวัยแล้ว

“ทีมชายเพิ่งคว้าเหรียญทองจากกีฬาโอลิมปิกเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน แถมทีมรักบี้หญิงยังพัฒนาขึ้นมาสู่อีกระดับ พวกเขามาจากไหนก็ไม่รู้ อยู่ดี ๆ ก็เอาชนะทีมชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเจ้าของเหรียญทองจากโอลิมปิกครั้งก่อน และผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศ อันที่จริง พวกเขาเกือบจะชนะนิวซีแลนด์ (เจ้าของเหรียญทองปี 2020) ได้ด้วยซ้ำ”

“แต่ถึงจะพลาดเหรียญทอง รักบี้ที่เคยได้รับความนิยมในหมู่ผู้ชาย ตอนนี้มีเยาวชนหญิงจำนวนมากในฟิจิที่อยากเป็นนักรักบี้ทีมชาติ เนื่องจากความสำเร็จในโอลิมปิกครั้งล่าสุด เพราะพวกเธอมองเห็นโอกาสในการคว้าเหรียญรางวัล และชีวิตที่ดีกว่าหลังจากนี้”

10เมื่อเราถามโลเต้ว่า เหรียญทองจากโอลิมปิก เกมส์ 2020 มีความหมายมากแค่ไหนต่อชาวฟิจิในวันนี้ ที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์โควิด-19 ไม่ต่างจากประเทศไทย คำตอบที่ออกมาก็ชวนให้เรานึกถึงสิ่งที่เขาพูดไว้ตั้งแต่ต้น ถึงความบ้าคลั่งของชาวฟิจิที่มีต่อกีฬารักบี้ ซึ่งทำให้คนยอมหยุดงานหรือเพิ่มวันหยุดราชการ เพื่อเฉลิมฉลอง ซึ่งภายใต้สถานการณ์โควิดนี้ ย่อมหมายถึง การยกเลิกเคอร์ฟิวด้วยเช่นกัน

“ฟิจิกำลังมีเคอร์ฟิวไม่ต่างจากประเทศไทย พวกเขาไม่สามารถออกจากบ้านเวลาหกโมงเย็นถึงตีสี่ แต่เมื่อพวกเขาลงเล่นรอบชิงชนะเลิศและคว้าเหรียญทอง รัฐบาลตัดสินใจสั่งยกเลิกเคอร์ฟิวชั่วคราวเป็นเวลาหนึ่งคืน เพื่อให้ทุกคนสนุกกับเกมกีฬาและออกมาเฉลิมฉลองบนท้องถนน”

“ถ้าผมจำไม่ผิด ตอนนี้พวกเขาประกาศวันหยุดราชการออกมาแล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่นักกีฬารักบี้ 7 คน สิ้นสุดจากกำหนดกักตัว 14 วัน (หลังกลับจากญี่ปุ่น) ตามคำสั่งของรัฐบาล ผู้คนทั่วประเทศจะมีส่วนร่วมกับวันหยุดที่มีขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะครั้งนี้โดยเฉพาะ”

“มันเป็นเรื่องใหญ่ และมีความหมายต่อพวกเขามาก เพราะนี่คือสิ่งเดียวที่ทำให้ฟิจิมีชื่อเสียงในระดับโลก จากเดิมที่ไม่เคยมีใครรู้ว่าประเทศแห่งนี้อยู่ตรงไหน ตอนนี้ทุกคนหันมามองฟิจิ เพียงเพราะพวกเขาขึ้นไปยืนบนโพเดียมพร้อมกับเหรียญทองโอลิมปิก”

11ไม่ต้องอธิบายอะไรเพิ่มเติม คำตอบของโลเต้บอกเราได้ดีมากพอแล้วว่า เหรียญทองของทัพนักกีฬารักบี้ 7 คน มีความหมายต่อชาวฟิจิมากเพียงใด

การพูดคุยกับชาวฟิจิที่สัมผัสและเติบโตขึ้นมากับความบ้าคลั่งในกีฬารักบี้อย่างแท้จริง ช่วยให้เราได้เข้าใจว่า ทำไมประเทศขนาดเล็กที่มีประชากรไม่ถึงหนึ่งล้านคน ถึงสามารถเอาชนะชาติมหาอำนาจ และคว้าเหรียญทองโอลิมปิก 2 ครั้งติดต่อกันได้ ซึ่งแน่นอนว่า มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

รักบี้ 7 คนทีมชาติฟิจิประสบความสำเร็จในโอลิมปิกได้ เพราะพวกเขาหลงรักกีฬาชนิดนี้อย่างแท้จริง มันมีคุณค่ามากกว่ากิจกรรมสันทนาการยามเย็น หรือ ความบันเทิงในวันหยุด แต่มันคือชีวิต คือเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และเกียรติยศของคนทั้งชาติ และถ้าคุณเห็นพวกเขาคว้าเหรียญทองอีกครั้งในโอลิมปิก เกมส์ 2024 ก็คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะรักบี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวฟิจิไปแล้ว  

“สำหรับชาวฟิจิ รักบี้คือศาสนา มันไม่ต่างกับที่ชาวนิวซีแลนด์เทิดทูนออลแบล็คส์ เมื่อคุณเกิดมาในฟิจิ คุณต้องเล่นรักบี้ ถ้าคุณเล่นไม่ดี คุณสามารถไปเอาดีทางกีฬาอื่นได้ แต่อันดับแรก คุณต้องเริ่มเล่นรักบี้เสียก่อน”

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ