จากการศึกษาพบว่าธารน้ำแข็งครึ่งหนึ่งของโลกจะหายไปภายในปี 2100
เอเอฟพี เผยรายงานวิจัยที่เผยแพร่ผ่านวารสาร Science เมื่อวันพฤหัสบดี 5 ม.ค. คาดการณ์ว่า ธารน้ำแข็งร้อยละ 49 ของธารน้ำแข็ง 215,000 แห่งทั่วโลก โดยเฉพาะธารน้ำแข็งที่มีขนาดเล็กจะหายไปภายในปี 2100 เนื่องจากภาวะโลกร้อน แต่หากจำกัดอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นสามารถช่วยรักษาธารน้ำแข็งส่วนอื่นๆ ของโลกไว้ได้
จากการศึกษาผู้เขียนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อจำกัดผลที่ตามมาจากการละลายของธารน้ำแข็ง เช่น การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและการลดลงของทรัพยากรน้ำ
ขณะที่นางเรจีน ฮอค ผู้ร่วมวิจัย กล่าวเสริมว่า จากการศึกษาได้พิจารณาผลกระทบของ 4 กรณี ตั้งแต่ 1.5 2 3 และ 4 องศาเซลเซียส ย้ำว่า การเพิ่มขึ้นของอุณภูมิโลกทำให้เกิดการละลายและสูญเสียมากขึ้น นั่นก็หมายความว่าถ้าคุณลดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น คุณก็สามารถลดการสูญเสียได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกคาดว่าจะสูงขึ้นราว 2.7 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลให้ธารน้ำแข็งในยุโรปกลาง แคนาดาตะวันตก ทวีปอเมริกา และนิวซีแลนด์ละลายหายไปแทบทั้งหมด
โดยตัวเลขอุณภูมิโลกปัจจุบันสูงกว่าระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่อยู่ระดับไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ให้คำมั่นไว้ในความตกลงปารีสก็ตาม นักวิจัยคาดการณ์ว่าร้อยละ 49 ของธารน้ำแข็งในโลกจะหายไปภายในปี 2100 นั่นจะคิดเป็นประมาณร้อยละ 26 ของความหนาแน่นของธารน้ำแข็งโลก เพราะธารน้ำแข็งขนาดเล็กจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก
ขณะเดียวกันหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 4.0 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ธารน้ำแข็งในอลาสกาจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยร้อยละ 83 ของธารน้ำแข็งจะหายไปภายในปี และยังส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้
ทั้งนี้นางฮอค กล่าวเพิ่มเติมว่า หากอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสจะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9 เซนติเมตร ในขณะที่อุณหภูมิที่สูงขึ้น 4.0 องศาเซลเซียสจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 15 เซนติเมตร ทำให้ส่วนใหญ่เกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง รวมถึงส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำจืด ซึ่งกระทบแก่ประชากรราวสองพันล้านคนทั่วโลก โดยธารน้ำแข็งจะชดเชยน้ำที่สูญเสียไปในฤดูร้อนเมื่อฝนไม่ตกมากนัก