ฆ่าตัวตาย : อะไรทำให้หญิงอินเดียปลิดชีวิตตัวเองปีละหลายหมื่นคน

Home » ฆ่าตัวตาย : อะไรทำให้หญิงอินเดียปลิดชีวิตตัวเองปีละหลายหมื่นคน


ฆ่าตัวตาย : อะไรทำให้หญิงอินเดียปลิดชีวิตตัวเองปีละหลายหมื่นคน

เหตุใดเหล่าแม่บ้านในอินเดียจึงตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองปีละหลายหมื่นคน

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานข้อมูลอาชญากรรมแห่งชาติของอินเดีย (National Crime Records Bureau หรือ NCRB) ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วมีแม่บ้านก่อเหตุฆ่าตัวตาย 22,372 คน คิดโดยเฉลี่ยวันละ 61 คน หรือมีแม่บ้านจบชีวิตตัวเอง 1 คนในทุก 25 นาที

ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่า เหตุแม่บ้านฆ่าตัวตายมีสัดส่วน 14.6% ของกรณีการฆ่าตัวตาย 153,052 รายในอินเดียเมื่อปี 2020 และคิดเป็นกว่า 50% ของผู้หญิงอินเดียทั้งหมดที่ก่ออัตวินิบาตกรรม

ฆ่าตัวตาย : อะไรทำให้หญิงอินเดียปลิดชีวิตตัวเองปีละหลายหมื่นคน

Getty Images
  • เหตุใดหญิงอินเดียจำนวนมากจึงตัดมดลูกทิ้ง
  • “สามีของฉันเคยเป็นเทพบุตร แต่แล้วเขากลับข่มขืนฉัน”
  • 3 เรื่องเศร้าที่แสดงถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการข่มขืนของอินเดีย

ตัวเลขที่สูงเมื่อปีที่แล้วไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะนับตั้งแต่ปี 1997 ซึ่ง NCRB เริ่มทำฐานข้อมูลการฆ่าตัวตายโดยวัดจากอาชีพนั้น ก็พบว่ามีจำนวนแม่บ้านที่ฆ่าตัวตายกว่า 20,000 คนทุกปี โดยในปี 2009 ตัวเลขได้พุ่งสูงถึง 25,092 คน

รายงานต่าง ๆ มักกล่าวโทษว่า การฆ่าตัวตายเหล่านี้มีสาเหตุมาจาก “ปัญหาในครอบครัว” หรือ “ปัญหาเกี่ยวกับการสมรส” แต่อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่บีบคั้นให้ผู้หญิงเหล่านี้ต้องตัดสินใจจบชีวิตของตัวเอง กีตา ปันเดย์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีจะพาไปสำรวจเรื่องนี้

ความรุนแรงในครอบครัว

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตระบุว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่บ้านอินเดียจำนวนมากฆ่าตัวตายคือ ความรุนแรงในครอบครัว โดย 30% ของผู้หญิงที่ร่วมการสำรวจล่าสุดของรัฐบาลระบุว่า พวกเธอต้องเผชิญกับความรุนแรงจากสามี และงานบ้านที่หนักได้สร้างความกดดันและอึดอัดในชีวิตสมรส

ดร. อุษา เวอร์มา ศรีวัสตาวา นักจิตวิทยาคลินิกในเมืองพาราณาสี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่มักแต่งงานออกเรือนทันทีที่อายุครบ 18 ปี ซึ่งเป็นวัยที่แต่งงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายในอินเดีย พวกเธอต้องกลายเป็นภรรยา และลูกสะใภ้ ที่มักต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนตลอดทั้งวัน ต้องคอยทำอาหาร ทำความสะอาด และงานบ้านอื่น ๆ อีกทั้งยังเผชิญกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จึงทำให้พวกเธอแทบไม่มีอิสระ และไม่มีเงินเป็นของตัวเอง

“การศึกษาและความฝันของพวกเธอไม่สำคัญอีกต่อไป และความ ทะเยอทะยานของพวกเธอก็ค่อย ๆ มอดดับลง จากนั้นความรู้สึกสิ้นหวังก็เข้ามาแทนที่ และการมีชีวิตอยู่ก็กลายเป็นเรื่องแสนทรมาน”

India women walk to a river to do laundry

Getty Images
งานบ้านส่วนใหญ่มักเป็นภาระรับผิดชอบของผู้หญิง

ดร. เวอร์มา ศรีวัสตาวา กล่าวต่อว่า ในหมู่หญิงสูงวัยมีสาเหตุการฆ่าตัวตายที่แตกต่างออกไป

เธอระบุว่า แม่บ้านหลายคนต้องเผชิญกับภาวะเหงา และเศร้าเสียใจจากการที่ลูก ๆ เติบโตขึ้นแล้วย้ายออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง นอกจากนี้หลายคนยังประสบปัญหาจากวัยใกล้หมดประจำเดือน (peri-menopausal) ที่อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า

อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาคลินิกผู้นี้ชี้ว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายสามารถป้องกันได้โดยง่าย และ “ถ้าคุณห้ามใครคนหนึ่งได้ในชั่ววินาที ก็มีโอกาสที่พวกเขาจะหยุดทำ”

นพ. สุมิตรา พาทาเร ซึ่งเป็นจิตแพทย์อธิบายว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะการฆ่าตัวตายในอินเดียจำนวนมากเป็นการกระทำที่มาจากอารมณ์ชั่ววูบ “ผู้ชายกลับมาบ้าน ทุบตีภรรยา และเธอก็ฆ่าตัวตาย”

เขาอ้างอิงงานวิจัยอิสระชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า 1 ใน 3 ของหญิงอินเดียที่ปลิดชีวิตตัวเอง เคยประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทว่า ปัญหานี้กลับไม่ถูกระบุว่าเป็นสาเหตุการฆ่าตัวตายในฐานข้อมูลของ NCRB

ชัยทาลี สินหา นักจิตวิทยาของ Wysa แอปพลิเคชันที่ให้บริการด้านสุขภาพจิตที่มีสำนักงานในเมืองบังคาลอร์ ระบุว่า ผู้หญิงหลายคนยังมีสุขภาพจิตที่มั่นคงได้แม้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว เพราะพวกเธอได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง

น.ส.สินหา เคยทำงานให้คำปรึกษาแก่ผู้พยายามฆ่าตัวตายที่โรงพยาบาลจิตเวชของรัฐบาลแห่งหนึ่งในนครมุมไบ และได้พบว่า ผู้หญิงเหล่านี้มักจับกลุ่มเล็ก ๆ คอยให้ความช่วยเหลือกันเองในบริบทต่าง ๆ เช่น ระหว่างที่พวกเธอเดินทางด้วยรถไฟในท้องถิ่น หรือกลุ่มเพื่อนบ้านในระหว่างการไปซื้อผัก

“พวกเธอไม่มีที่ให้ระบาย และบางครั้งสุขภาพจิตของพวกเธอก็ขึ้นอยู่กับบทสนทนาที่ได้คุยกับคนเพียงหนึ่งคน” เธอกล่าว พร้อมชี้ว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 และการล็อกดาวน์ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

นักจิตวิทยาหญิงผู้นี้อธิบายว่า เมื่อสามีไม่ได้ออกไปทำงาน ก็เท่ากับว่าผู้หญิงเหล่านี้ต้องติดอยู่บ้านกับคนที่ทำร้ายพวกเธอตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ การบังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทางและการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เคยสร้างความสุขให้พวกเธอ ก็ยิ่งทำให้ผู้หญิงเหล่านี้เกิดความรู้สึกโกรธ และเศร้าเสียใจสะสม จนนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด

อินเดียรายงานอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในโลก โดยชายอินเดียมีสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของคนฆ่าตัวตายทั้งโลก ขณะที่ผู้หญิงมีสัดส่วนอยู่ที่ 36% ของคนอายุ 15 – 39 ปีที่ฆ่าตัวตายทั่วโลก

นพ. พาทาเร ซึ่งทำวิจัยเรื่องความผิดปกติทางจิตและการป้องกันการฆ่าตัวตาย ระบุว่า ตัวเลขการฆ่าตัวตายที่ทางการอินเดียระบุยังต่ำกว่าตัวเลขจริงมาก อีกทั้งยังไม่สะท้อนถึงความร้ายแรงของปัญหาที่แท้จริง

เขาอ้างอิงผลการศึกษา Million Death Study ที่เก็บข้อมูลชาวอินเดีย 14 ล้านคน ใน 2.4 ล้านครัวเรือน ระหว่างปี 1998-2014 และงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Lancet ซึ่งบ่งชี้ว่า การรายงานตัวเลขคนฆ่าตัวตายในอินเดียยังต่ำกว่าความเป็นจริง 30% – 100%

จิตแพทย์ผู้นี้ระบุว่า การฆ่าตัวตายเป็นประเด็นที่ผู้คนไม่กล้าพูดคุยกันอย่างเปิดเผย และหลายครอบครัวพยายามปกปิดเอาไว้ ส่วนในพื้นที่ชนบทก็ไม่มีข้อกำหนดให้มีการชันสูตรศพผู้เสียชีวิต อีกทั้งยังเป็นที่รู้กันว่าคนรวยมักได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจที่ลงบันทึกว่าการฆ่าตัวตายเป็นการเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ

ในขณะที่อินเดียกำลังพัฒนายุทธศาสตร์ชาติเพื่อป้องกันปัญหาฆ่าตัวตายนั้น นพ. พาทาเร ชี้ว่า เรื่องสำคัญอันดับแรกที่จะต้องทำคือแก้ไขคุณภาพของข้อมูล และเข้าให้การช่วยเหลือแก่คนกลุ่มเสี่ยงเพื่อหยุดยั้งการฆ่าตัวตาย

“องค์การสหประชาชาติตั้งเป้าลดอัตราการฆ่าตัวตายลง 1 ใน 3 ภายในปี 2030 แต่เมื่อปีที่แล้ว ตัวเลขของเราได้เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และการลดตัวเลขเหล่านี้ยังคงเป็นความฝันที่ห่างไกล” นพ. พาทาเร กล่าว

………….

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ