"คาวาโต โคอิจิ" : ครูมือใหม่จาก Rookies ที่ใช้ "ความฝัน" เปลี่ยนเด็กเกเรจนได้ไป "โคชิเอ็ง"

Home » "คาวาโต โคอิจิ" : ครูมือใหม่จาก Rookies ที่ใช้ "ความฝัน" เปลี่ยนเด็กเกเรจนได้ไป "โคชิเอ็ง"



"คาวาโต โคอิจิ" : ครูมือใหม่จาก Rookies ที่ใช้ "ความฝัน" เปลี่ยนเด็กเกเรจนได้ไป "โคชิเอ็ง"

“ความฝันของพวกเธอคืออะไร?” นี่คือคำถามแรกๆที่ คาวาโต โคอิจิ ถามนักเรียนของเขา

มองอย่างผิวเผิน เขาอาจจะดูเป็นอาจารย์หนุ่มที่มองโลกในแง่ดีเกินไป และพร่ำพูดถึงแต่ความฝัน ที่ฟังดูเฝือ และล้าสมัย จนโดนเด็กนักเรียน หรืออาจารย์บางคนดูถูก แต่ที่จริงมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ? 

นี่คือเรื่องราวของอาจารย์มือใหม่ไฟแรงจากเรื่อง Rookies ที่เปลี่ยนแปลงชมรมเบสบอลนักเลง ซึ่งถูกมองว่าเป็น “ขยะ” จนได้ผ่านเข้าไปเล่นในสังเวียนศักดิ์สิทธิ์อย่าง “โคชิเอ็ง”

ติดตามเรื่องราวของเขาได้ที่นี่

ครูผู้มีประวัติด่างพร้อย 

ญี่ปุ่น ถือเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับอาชีพ “ครู” อย่างมาก ด้วยค่าตอบแทนเฉลี่ยที่สูงถึง 48,919 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (ราว 1,537,990 บาท) ซึ่งสูงเป็นอันดับ 12 ของโลก แต่ในขณะเดียวกันก็แลกมาด้วยปัญหาเกี่ยวกับนักเรียนที่ต้องเผชิญ 

และนั่นคือสิ่งที่ คาวาโต โคอิจิ ตัวเอกจากเรื่อง Rookies ผลงานจากปลายปากกาของอาจารย์ มาซาโนริ โมริตะ คนเดียวกับผู้วาด จอมเกบลูส์ ต้องเจอ เขาคือครูมือใหม่ไฟแรงของโรงเรียนฟุตาโกะ ทามางาวะ ซึ่งถูกรับเข้ามาเพื่อมาแก้ปัญหาชมรมเบสบอล 

1

ในตอนนั้นชมรมเบสบอลของฟุตาโกะ ทามาคาวะ กำลังตกต่ำอย่างหนัก หลังรุ่นพี่ไปก่อเรื่องชกต่อยในระหว่างการแข่งขัน จนทำให้ถูกแบนยาว 1 ปี ในขณะที่สมาชิกที่เหลือก็มีแต่เด็กเกเรที่ใช้ห้องชมรมเป็นแหล่งมั่วสุม

ผู้อำนวยการโยชิโอะ มารุยามะ อยากให้คาวาโต ที่เคยมีประวัติใช้ความรุนแรงกับนักเรียนมาจัดการกับชมรมนี้ เขามองว่าเด็กพวกนี้คือตัวปัญหาที่ต้องกำจัด แต่เนื่องจากโรงเรียนมีธรรมเนียมว่าจะไม่ไล่เด็กออกอย่างเด็ดขาด จึงหวังพึ่งความรุนแรงจากครูคนใหม่

“สิ่งสำคัญคือ ถ้าเราเป็นฝ่ายไล่เขาออก เราจะโดนสังคมประณามว่าไปตัดการศึกษาเด็ก ฉะนั้น วิธีการจัดการกับเด็กมีปัญหาจึงมีเพียงสองวิธีเท่านั้น คือทำให้เด็กเป็นฝ่ายลาออกเอง หรือไม่ก็ทำให้ไม่สามารถมาโรงเรียนได้อีกต่อไป” ผอ. มารุยามะ บอก รอง ผอ. อิเคเบะ 

“เจ้าพวกนั้นไม่มีทางยื่นจดหมายลาออกเองอยู่แล้ว เมื่อเป็นเช่นนั้น คำตอบจึงเหลือแค่วิธีเดียวจริงมั้ย เธอเองก็รู้ดีใช่มั้ยล่ะว่าคาวาโตคุงทำอะไรไว้ที่โรงเรียนคังคะงาวะ ซึ่งเขาเคยอยู่มาก่อน” 

2

แผนการของ ผอ. มารุยามะ คือส่งคาวาโตไปเป็นที่ปรึกษาของชมรมเบสบอล ซึ่งการไปจุ้นจ้านในชมรม จะทำให้เด็กไม่พอใจ และเกิดเหตุกระทบกระทั่งจน คาวาโต ฟิวส์ขาดต่อยเด็กจนเข้าโรงพยาบาล และหลังจากนั้นให้เขาลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ 

อย่างไรก็ดี มันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้อำนวยการคาดไว้

ทุกอย่างมีวิธีใช้งาน

แม้ว่าในอดีต คาวาโตจะเป็นครูที่เคยใช้ความรุนแรงกับนักเรียนจริง แต่ความเป็นจริงมันเป็นเพียงเรื่องเข้าใจผิด เขาทำไปเพราะป้องกันตัวจนกลายเป็นอุบัติเหตุที่ทำให้เด็กนักเรียนต้องเจ็บหนัก

คาวาโตอาจจะเป็นครูที่อารมณ์ร้อนอยู่บ้าง และเก่งในเรื่องชกต่อย หลังจากโดนพ่อจับเรียนคาราเต้ตั้งแต่เด็ก แต่ความเป็นจริง เขาเป็นคนมองโลกในแง่ดี และศรัทธาในความดีของคนอื่น แม้จะถูกครูหรือนักเรียนบางคนหัวเราะเยาะก็ตาม

คาวาโตเชื่อว่าทุกสิ่งมันมีวิธีการใช้งานที่ถูกต้อง เหมือนครั้งหนึ่งที่เขาเคยบอก ชินโจ เคอิ หนุ่มผมทองร่างยักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวโจกของชมรมเบสบอลที่ไม่พอใจกับการมาถึงของคาวาโต 

“แปลกนะ ทั้งที่เป็นมือเหมือนกัน ถ้ากำมันก็คือหมัด ถ้าแบมันก็คือฝ่ามือ ฝ่ามือเปรียบคือหัวใจของมือ เข้าใจมั้ย ฉันมั่นใจว่าวันที่เธอจะยอมเป็นฝ่ายแบหมัดนี้เอง ต่อหน้าฉัน มันจะต้องมาถึงเข้าสักวัน” คาวาโต บอกกับ ชินโจ

3

เขาจึงไม่เคยมองว่าใครเป็น “ขยะ” แม้แต่กลุ่มนักเรียนนักเลงที่ครูหลายคนเอาแต่เบือนหน้าหนีและคอยผลักไสไล่ส่ง สำหรับคนอื่น พวกเขาอาจจะไม่เป็นที่ต้องการ ต้องพักการเรียนหรือไล่ออกให้พ้นหน้า แต่สำหรับคาวาโต ไม่ใช่ 

“การที่ทำให้คนไม่ดีหายไปคนนึง นั่นอาจจะทำให้สงบสุขขึ้นมาบ้าง แต่มันก็ได้เพียงแค่นั้น เพราะนั่นไม่ถือว่าเป็นการแก้ปัญหาอะไรเลย” คาวาโตอธิบาย 

“จริงๆแล้ว การแก้ปัญหายังมีวิธีอื่นอีกตั้งเยอะแยะ อย่างการที่ทำให้คนที่เราไม่ชอบ กลายมาเป็นคนดีมากๆ และกลายเป็นเพื่อนกับเราได้ ย่อมดีกว่าทำให้คนที่เราไม่ชอบนั่นหายไป” 

ทำให้คาวาโตมีความตั้งใจที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชมรมเบสบอลที่ถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา เขาพยายามทำให้เด็กกลุ่มนี้เข้าใจด้วยการมอบความเชื่อใจและให้เกียรติในฐานะมนุษย์ โดยเริ่มต้นจากการจำชื่อและหน้าเด็กนักเรียนทุกคนให้ได้

มันคือการให้ “คุณค่า” ทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามันคือสิ่งที่นักเรียนกลุ่มนี้ขาด การถูกมองว่าเป็นชมรมเบสบอลอันธพาล ทำให้พวกเขาถูกด้อยค่า และสูญเสียความเชื่อมั่นหรือความภาคภูมิใจในตัวเองไป 

ตอนที่ มิโคชิบะ โทรุ สมาชิกคนแรกที่คาวาโตไปตามมาได้รู้เรื่องนี้ เขาถึงกับร้องไห้โฮออกมา ซึ่งมันแสดงให้เห็นว่า การที่มีคนให้ความสำคัญ มันมีความหมายแค่ไหนสำหรับคนที่รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและสิ้นหวัง

4

“เพราะอยากให้ทุกคนเข้าใจฉัน ฉันจึงพยายามจำจนได้ เพื่อที่สามารถพูดกับทุกคนด้วยความรู้สึกเดียวกัน อาจจะดูไม่ค่อยเข้าเรื่องเท่าไร แต่ถ้าฉันจำแค่ชื่อของทุกคนไม่ได้ ก็ถือเป็นการเสียมารยาทสิ ฉันรู้สึกเหมือนว่าจุดนั้นคือก้าวแรกในการที่จะเข้าใจกัน” คาวาโตพูดกับมิโคชิบะ 

ทำให้ไม่ว่าเด็กจะดูเลวร้ายขนาดไหน คาวาโตก็จะหาข้อดีให้ได้ทั้งในเชิงความสามารถและนิสัย ไม่ว่าจะเป็น อานิยะ เคอิจิ ที่เกลียดความพ่ายแพ้, เซคิซาวะ ชูตะ ที่เก่งเรื่องความเร็ว, ชินโจ ที่รักพวกพ้อง, โอคาดะ ยูยะ ที่เป็นคนใจเย็น, วาคานะ โทโมจิกะ ที่คอยปลุกใจเพื่อนร่วมทีม หรือแม้แต่ ฮิรัตสึกะ ไทระ ที่ฝีมือแย่สุด ก็ยังถูกวางให้เป็นอาวุธลับ

อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่สิ่งเดียวที่ทำให้เขาสามารถซื้อใจเด็กกลุ่มนี้ได้

เปิดใจแล้วคุยกัน 

สิ่งหนึ่งที่คาวาโตโดนเหยียดหยามจากครูคนอื่นมาตลอดคือการทำตัวไม่มีฟอร์มจนนักเรียนไม่เคารพ หรือแม้แต่เด็กในชมรมเบสบอลยังเรียกเขาว่า คาวาโต แทนที่จะมีคำว่าอาจารย์นำหน้า ซึ่งแน่นอนเขาเองรู้ดี แต่ก็เลือกที่จะทำแบบนี้ 

คาวาโตมองว่าคนเรามีความเสมอภาคกัน และสิ่งสำคัญคือการพูดกันอย่างจริงใจ สำหรับเขาจึงไม่มีคำว่าครูหรือนักเรียน แต่คือ “มนุษย์” ที่สามารถผิดพลาดกันได้ ครั้งหนึ่งเขาเคยนั่งลงกับพื้นเพื่อรับฟังปัญหาของเด็ก หรือก้มหัวขอโทษนักเรียนมาแล้ว 

5

“ถ้าอยากให้คนอื่นชอบเรา เราก็ต้องชอบคนอื่นด้วย ถ้าอยากให้คนอื่นดีกับเรา เราก็ต้องดีกับเขาด้วย ถ้าอยากให้คนอื่นเชื่อใจเรา เราก็ต้องเชื่อใจเขาด้วย เพราะฉันอยากให้เธอเชื่อใจ ฉันจึงได้เชื่อใจเธอ” คาวาโตบอกกับชินโจ 

ดังนั้น สิ่งที่ทำให้ครูกับนักเรียนแตกต่างกัน จึงไม่ใช่อายุที่มากกว่าหรือความเป็นผู้ใหญ่หรือเด็ก แต่คือประสบการณ์ หน้าที่ของครูสำหรับคาวาโตคือการรับฟังปัญหาของเด็กและให้คำแนะนำอย่างจริงใจ ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องนั่งลงแล้วมองในมุมของนักเรียนบ้าง 

ทำให้ตอนที่อาจารย์สึจิเซ็น ปัดที่จะฟังคำร้องเรียนของเด็กนักเรียนที่โดนเพื่อนรุมกลั่นแกล้ง เขาจึงเลือดขึ้นหน้า จนถึงขั้นจะเข้าไปชกต่อยด้วยความโกรธ 

“เวลาพ่อแม่พาลูกไปเดินห้างสรรพสินค้า เดินไม่ทันไร เด็กจะพูดว่าเหนื่อย ขอให้ช่วยอุ้มหน่อย นั่นเป็นเพราะของที่วางโชว์ในห้าง จะถูกวางไว้สูงระดับผู้ใหญ่ และเมื่อเด็กมองไม่เห็นก็จะรู้สึกเบื่อหน่าย” คาวาโตพูดกับอาจารย์สึจิเซ็นด้วยท่าทีเกรี้ยวกราด  

“แต่เมื่อถึงมุมขายของเล่น เด็กจะไม่รู้สึกเหนื่อยหน่าย นั่นเป็นเพราะเขาคำนึงถึงความสูงในระดับสายตาของเด็กไป แล้ววางของเล่นไว้ในตำแหน่งนั้น กลับกันผู้ใหญ่เป็นฝ่ายมองข้ามไป” 

“แต่อาจารย์กับนักเรียนจะเป็นแบบนั้นไม่ได้นะครับ ในความสูงระดับสายตาของเด็ก พวกเขามองเห็นอะไรบ้างนั้น คราวนี้ผู้ใหญ่อย่างเรา แม้จะต้องลดตัวลงไปนั่งที่พื้นก็ต้องทำ เพื่อจะได้มองเห็นในระดับเดียวกับพวกเขา” 

6

“จริงๆแล้ว พวกเขามีเรื่องอยากจะคุยกับพวกเรามากมายเต็มไปหมด และมีเรื่องอยากให้เรารับฟังด้วยมากมายเช่นกัน ดังนั้น พวกเขามองเห็นอะไรบ้าง คิดอะไรอยู่ และอยากจะพูดอะไร ช่วยรับฟังเขาก่อนได้มั้ย?”

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาต่างจากคนอื่น คือวิธีการปฎิบัติต่อเด็กนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเกเร เดิมแล้วเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่โดนโรงเรียนและสังคมทอดทิ้ง เนื่องจากถูกมองว่าเป็นตัวปัญหา ซึ่งยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาไร้ตัวตนมากขึ้น 

แต่สำหรับคาวาโต เขาไม่เพียงแต่ไม่ผลักไส แต่ยังเข้าใจเด็กกลุ่มนี้ เขามองว่าที่เด็กกลุ่มนี้กลายเป็นอันธพาลก็เพราะพวกเขาว่างเกินไป พวกเขาล้วนไร้เป้าหมาย หรือหลงลืมสิ่งนั้นไปหมดแล้ว 

พอมีเวลาว่าง แต่ไม่มีงานอดิเรก มันจึงทำให้พวกเขาเลือกแสดงออกในทางที่ผิด นั่นคือในเชิงก้าวร้าว หรือทำผิดกฎหมาย ทั้งที่จริง พวกเขาคือคนเหงาที่ขาดเป้าหมาย จนไม่รู้จะทำอะไร 

“คนไร้แก่นสาร ว่างนักมักคิดชั่ว หมายความว่าคนที่ไม่บรรลุถึงความดี พอว่างไม่มีอะไรทำ ก็จะหันไปหาในสิ่งที่ไม่ดีในที่สุด พูดอีกอย่างคือ คนที่มีเป้าหมาย และพยายามไปให้ถึงเป้าหมาย จะไม่มีเวลาว่างพอมาคิดทำในสิ่งที่ชั่วไง” คาวาโตบอกกับมิโคชิบะ 

และเป็นเหตุผลที่ทำให้คาวาโตเน้นย้ำในสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ

จงมีฝัน 

ความฝันเป็นสิ่งที่คาวาโตพร่ำบอกกับนักเรียน แม้ว่ามันจะถูกมองว่าเชยจนถูกหัวเราะเยาะจากครูและนักเรียนบางคน แต่สำหรับเขา มันไม่มีคำว่าล้าสมัย และเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต ทำให้คำว่า “จงทุ่มใจสู่ฝัน จงจรัสแสงเพื่อวันพรุ่งนี้” คือคำพูดติดปากของเขา   

“ความฝันของพวกเธอคืออะไร? มีมั้ย? นี่ก็ปาเข้าไปอายุ 16 แล้วนะ พวกเธอเพิ่งจะอายุ 16 ไม่ใช่รึ?” คาวาโตถามนักเรียน 

“ฟังนะ ไม่ว่าจะอายุ 20 แล้ว หรืออายุ 30 แล้ว ก็ไม่มีคำว่าสายเกินไป สำหรับการที่จะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างหรอกนะ” 

“เริ่มจากตอนนี้ ก็มีเวลาเหลือเฟือ อยากจะฝันอะไรก็ได้ แต่ขอให้ทุกคนมีความฝันที่ยิ่งใหญ่เข้าไว้” 

7

คาวาโตพร้อมสนับสนุนให้ทุกคนมีความฝัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเกเร เขามองว่าเด็กเหล่านี้ อาจจะมีความฝันหรือมีเป้าหมาย แต่ไม่เคยมีใครให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับพวกเขา และกลัวถูกหัวเราะเยาะ จึงเลือกที่จะซ่อนมันเอาไว้ 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ อานิยะ หัวโจกของกลุ่ม ที่จริงแล้วเขาเป็นนักเบสบอลฝีมือดีตอนสมัยมัธยมต้น และมีความฝันที่จะไปโคชิเอ็ง แต่พอขึ้นมัธยมปลาย เขารู้สึกว่าโคชิเอ็งกับเขามันห่างเกินไป และเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องผิดหวัง จึงเลือกที่จะยอมแพ้ และทำตัวไร้สาระไปวันๆ 

แต่ด้วยการผลักดันของคาวาโต ทำให้อานิยะตระหนักได้ว่าพรสวรรค์ไม่สำคัญเท่ากับการมีความฝัน และทำอย่างไรเพื่อผลักดันให้ตัวเองไปถึงจุดนั้น จนทำให้เขากลับมามุ่งมั่นกับเบสบอลอีกครั้ง และกลายเป็นสมาชิกคนสำคัญของทีม

นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เขามักเน้นย้ำอยู่เสมอคือ “อย่าดูถูกความฝันใคร”  แม้สิ่งที่ได้ยินมันอาจจะฟังดูเป็นไปยากก็ตาม เพราะเขาเองก็พร้อมที่จะเชื่อในสิ่งที่นักเรียนพูด และพยายามสนับสนุนความฝันของพวกเขาอย่างเต็มที่

“คนที่พยายามที่จะมุ่งไปสู่ความฝันของตน จะเป็นคนที่มีแววตาเจิดจรัสเจิดจ้า ฉันพูดจริงนะ ฉันชอบแววตาแบบนั้น ฉันอยากจะส่งเสริมเด็กนักเรียนที่มีแววตาแบบนั้น นั่นเป็นหนึ่งในความฝันของฉัน” คาวาโตบอกกับนักเรียน

8

อย่างไรก็ดี เขาก็สอนว่าความล้มเหลวคือส่วนหนึ่งของความฝัน มันเป็นกระบวนการในการไปถึงเป้าหมาย ดังนั้น จึงต้องเรียนรู้และเตรียมตัวที่จะต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ และที่สำคัญความฝันก็ไม่ใช่เครื่องชี้วัดความสำเร็จเพียงอย่างเดียว  

คาวาโตจึงเป็นเหมือนไฟดวงเล็ก ภายในถ้ำอันมืดมิด ที่เป็นเหมือนความหวังของเด็กกลุ่มนี้ เขาคือคนที่ทำให้เด็กในชมรมเบสบอลที่ถูกมองว่าเป็นอันธพาล “กล้า” ที่จะฝัน และกลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้พวกเขาสร้างปาฏิหาริย์ไปเล่นใน “โคชิเอ็ง” ได้สำเร็จ 

“โชคดีที่มนุษย์เราทุกคนสามารถที่จะคิดที่จะมีความฝันได้อย่างเท่ากัน เสมอภาคกัน ซึ่งในที่สุด ตอนนี้พวกเธอก็รู้สึกตัวถึงสิ่งนั้นแล้ว และพวกเธอได้เริ่มพยายามที่จะทำให้ฝันนั้นเป็นจริงได้ ฝันที่ว่านั้นก็คือเบสบอลนั่นเอง” คาวาโตบอกกับสมาชิกชมรมเบสบอล

“นับว่าฉันเป็นคนที่มีความสุขที่สุดในโลกเลย ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสานฝันของพวกเธอให้เป็นจริงขึ้นมา และฉันจะคอยเฝ้าดูพริบตาแห่งความสำเร็จที่พวกเธอจะทำให้ฝันเป็นจริงขึ้นมา”  

9

ทำให้คาวาโตจึงไม่ได้เป็นครูสอนเบสบอล (เพราะรู้เบสบอลเพียงแค่พื้นฐาน) แต่เป็นครูสอนชีวิต เขาสอนให้เด็กๆเชื่อมั่นในตัวเอง และชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความมุ่งมั่นและความฝัน รวมไปถึงการต่อสู้กับจิตใจตัวเอง 

ในขณะเดียวกัน เขาก็ไม่ได้เป็นผู้สอนเพียงฝ่ายเดียว เมื่อในระหว่างนั้นเขาก็ได้เรียนรู้จากนักเรียนของเขาในหลายๆด้านของชีวิต ที่ทำให้พวกเขาเติบโตไปพร้อมกัน 

“ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ฉันก็ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย” คาวาโตบอกกับชมรมเบสบอล   

“ทั้งเบสบอล ทั้งการแข่งขันแบบกลุ่มที่เป็นเหมือนโลกที่ฉันแทบไม่เคยได้รู้จักมาก่อน และฉันก็ได้มารู้จักมัน สิ่งที่แสนวิเศษของการเล่นเป็นทีม และความแน่วแน่ที่จะทำเพื่อส่วนรวมที่เรียกว่าวันฟอร์ออล”

“และที่สำคัญที่สุด คือการได้เรียนรู้ความสำคัญของการมีฝันอย่างจริงจัง”

นอกจากนี้ เขายังสะท้อนให้เห็นว่า อดีตที่มืดดำไม่ใช่ตัวตัดสินว่าอนาคตจะต้องจบลง เหมือนอย่างที่เขาที่สามารถกลับตัวได้ และพยายามไม่ใช่ความรุนแรง หรือชมรมเบสบอลที่เปลี่ยนแปลงตัวเองจากนักเลงมาเป็นนักกีฬา

และไม่ใช่แค่นักเรียนเท่านั้นที่ได้รับอิทธิพลจากเขา เพราะในเวลาเดียวกัน เขาก็ยังเป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์ในโรงเรียนฟุตาโกะ ทามางาวะ ตระหนักถึงหน้าที่ที่แท้จริงของอาชีพครู

เพราะมันไม่ไช่แค่การสอนตามเนื้อหาที่กำหนดเท่านั้น แต่มันคือการช่วยให้นักเรียนที่กำลังเคว้งคว้าง สับสน หลงทาง ได้ตามหาตัวตนในชีวิต ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเด็กวัยนี้

การมีอยู่ของคาวาโตจึงมีความหมายต่อทุกคน โดยเฉพาะชมรมเบสบอล แม้บางครั้งเขาอาจจะดูมองโลกในแง่ดีเกินไป หรือยึดมั่นในอุดมการณ์ แต่เขาก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ความฝันและเป้าหมายคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิต

และทำให้เห็นว่าการมีคนที่เชื่อและคอยสนับสนุนในความฝันเรา มันดีแค่ไหน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ