โรม, 11 มิ.ย. (ซินหัว) — เมื่อวันพฤหัสบดี (10 มิ.ย.) โรงพยาบาลแบมบิโน เกซู ในกรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี ประกาศการปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อโรคโควิด-19 สำเร็จครั้งแรกของโลก
แถลงการณ์จากโรงพยาบาลฯ ระบุว่าเด็กชาย วัย 15 ปี ซึ่งอยู่ในรายชื่อผู้รอรับหัวใจใหม่ตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 ฟื้นตัวแล้วหลังรับหัวใจจากผู้บริจาคที่ติดเชื้อไวรัสฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม โดยเด็กชายมีภาวะหัวใจโต (dilated cardiomyopathy) ซึ่งส่งผลให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ไม่ปกติ ภาวะนี้พบได้ยากในประชากรวัยเด็ก โดยมีอัตราส่วนราว 1 รายต่อเด็ก 190,000 คน
ผู้ป่วยเด็กได้รับหัวใจเทียมชนิดโลหะเพื่อต่อชีวิตขณะรอหัวใจที่เข้าคู่กันได้ ทว่าโรงพยาบาลตัดสินใจร้องขอและได้รับอนุญาตจากศูนย์ปลูกถ่ายแห่งชาติและสำนักงานกำกับดูแลยาของอิตาลี ให้ทำการปลูกถ่ายโดยใช้หัวใจของผู้บริจาคที่ติดเชื้อไวรัสฯ หลังจากอาการของเขาทรุดลง
“ในสาขากุมารเวชศาสตร์ การหาหัวใจที่เข้ากันได้สำหรับการปลูกถ่ายนั้นยากกว่าผู้ใหญ่” อันโตนิโอ อโมเดโอ หนึ่งในคณะแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดระบุในแถลงการณ์ “นั่นคือเหตุผลที่เราตัดสินใจทำทุกวิถีทางเพื่อให้เด็กคนนี้ได้อวัยวะที่เขารอคอย มันคือทางเลือกระหว่างความเป็นกับความตาย”
ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2021 คณะแพทย์จากโรงพยาบาลซานต์ออร์โซลาในเมืองโบโลญญาของอิตาลี ทำการปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาควัยผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไวรัสฯ ให้ผู้รับวัยผู้ใหญ่ที่ไม่ติดเชื้อไวรัสฯ ทว่าขั้นตอนดังกล่าวถือว่ามีความเสี่ยงน้อยกว่าการปลูกถ่ายหัวใจในผู้ป่วยวัย 15 ปีรายข้างต้น โดยการปลูกถ่ายทั้งสองกรณีเป็นการปลูกถ่ายหัวใจจากผู้บริจาคที่ติดเชื้อไวรัสฯ ให้ผู้รับที่ไม่ติดเชื้อไวรัสฯ ครั้งแรก