ข้อกล่าวอ้างที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีอะไรบ้าง แล้วความจริงคืออะไร

Home » ข้อกล่าวอ้างที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีอะไรบ้าง แล้วความจริงคืออะไร



ขณะที่ผู้นำทั่วโลกเข้าร่วมการประชุมสุดยอด COP26 เพื่อหารือกันว่า จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร ในโซเชียลมีเดียได้มีการเผยแพร่ข้อกล่าวอ้างหลายอย่างเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่ทำให้คนเข้าใจผิดและความเชื่อผิด ๆ

บีบีซีได้เข้าไปดูข้อกล่าวอ้างบางส่วนที่มีการส่งต่อกันมากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา และนำมาตรวจสอบว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อธิบายเรื่องเหล่านั้นไว้ว่าอย่างไร

ข้อกล่าวอ้าง : ดวงอาทิตย์จะเย็นลง ช่วยยุติโลกร้อน

ผู้คนพากันกล่าวอ้างอย่างไม่ถูกต้องมานานแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในศตวรรษที่ผ่านมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฏจักรตามธรรมชาติของโลก ไม่ใช่เป็นผลมาจากพฤติกรรมของมนุษย์

the sun

SCIENCE PHOTO LIBRARY

ในช่วงไม่กี่เดือนนี้ เราได้เห็นการโต้แย้งรูปแบบใหม่ ๆ ในเรื่องนี้

โพสต์หลายพันโพสต์ทางโซเชียลมีเดีย ที่ผ่านตาคนนับแสน ๆ คนในช่วงปีที่ผ่านมาอ้างว่า “แกรนด์ โซลาร์ มินิมัม” (Grand Solar Minimum) จะช่วยทำให้อุณหภูมิลดลงเองตามธรรมชาติ โดยที่มนุษย์ไม่ต้องทำอะไร

แต่ข้อกล่าวอ้างนี้ขัดกับหลักฐานที่มี

แกรนด์ โซลาร์ มินิมัม คือปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริง เมื่อดวงอาทติย์ให้พลังงานน้อยลง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากวัฏจักรตามธรรมชาติของดวงอาทิตย์

model of planet earth reading not for sale at COP26 summit

Getty Images

ผลการศึกษาหลายแห่งระบุว่า ดวงอาทิตย์อาจจะมีช่วงเวลาที่อ่อนกำลังลงในศตวรรษนี้ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิโลกลดลงชั่วคราวอย่างมากที่สุด 0.1-0.2 องศาเซลเซียส

การลดลงของอุณหภูมิโลกเพียงเท่านี้ไม่ได้เพียงพอต่อการชดเชยอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งได้ทำให้โลกร้อนขึ้นแล้วราว 1.2 องศาเซลเซียสในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา และอาจจะเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 2.4 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้

การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในช่วงไม่นานนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงวัฏจักรตามธรรมชาติของดวงอาทิตย์ เพราะชั้นบรรยากาศที่อยู่ใกล้กับโลกมากที่สุดกำลังร้อนขึ้น ขณะที่ชั้นบรรยากาศที่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุดคือชั้นสตราโตสเฟียร์กำลังเย็นลง

ความร้อนที่ปกติจะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์ กำลังถูกกักไว้ด้วยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ อย่างคาร์บอนไดออกไซด์ที่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากการกระทำของมนุษย์

ถ้าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิบนโลกเกิดจากดวงอาทิตย์ ชั้นบรรยากาศทั้งหมดก็น่าจะที่ร้อนขึ้น (หรือเย็นลง) พร้อม ๆ กัน

ข้อกล่าวอ้าง : โลกร้อนเป็นเรื่องดี

ข้อความหลายโพสต์ที่มีการส่งต่อกันทางออนไลน์อ้างว่า โลกร้อนจะทำให้หลายพื้นที่ของโลกมีสภาพเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งชีวิตมากขึ้น และสรุปว่า ความหนาวเย็นทำให้มีคนเสียชีวิตมากกว่าความร้อน

ผู้ที่อ้างข้อโต้แย้งเหล่านี้มักจะเลือกเฉพาะข้อเท็จจริงที่ดีและสนับสนุนความเชื่อนี้มาบางส่วน แต่เพิกเฉยข้อมูลอื่น ๆ ที่ขัดแย้งกับความเชื่อของพวกเขา

  • COP26 : การตัดสินใจที่การประชุมสุดยอดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงชีวิตเราอย่างไร
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ทดสอบความรู้ของคุณเกี่ยวกับวิธีการลดการปล่อยคาร์บอน
  • น้ำท่วม : ชายผู้ออกแบบเมืองในจีนให้เป็น “ฟองน้ำยักษ์” รับมือน้ำท่วม

ยกตัวอย่าง เป็นความจริงว่าหลายพื้นที่ในโลกมีความหนาวเย็นมากจนไม่เหมาะกับการอยู่อาศัย อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอาจทำให้พื้นที่เหล่านี้กลายเป็นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตสักช่วงเวลาหนึ่ง แต่อากาศที่ร้อนขึ้นในพื้นที่เหล่านี้ ก็อาจจะนำไปสู่การเกิดฝนตกรุนแรง ส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่และความสามารถในการเพาะปลูกพืชได้เช่นกัน

แต่ขณะเดียวกัน อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจะทำให้หลายพื้นที่ของโลกกลายเป็นที่ที่ไม่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างเช่นมัลดีฟส์ ซึ่งเป็น ประเทศที่อยู่ต่ำที่สุดในโลก

Flooding in the Maldives

Getty Images

อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็นลดลง จากการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารแลนเซ็ต (Lancet) ระหว่างปี 2000-2019 เป็นความจริงที่ว่ามีคนเสียชีวิตจากสภาพอากาศหนาวเย็นมากกว่าอากาศร้อน

แต่มีการคาดการณ์ว่า การเสียชีวิตที่เกี่ยวกับอากาศร้อนก็จะเพิ่มมากขึ้นพอ ๆ กับการลดลงของผู้เสียชีวิตจากสภาพอากาศเย็น

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change–IPCC) ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า โดยรวมแล้ว “คาดว่าความเสี่ยงอันเนื่องจากสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ [และ] ชีวิตความเป็นอยู่…จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส” ข้อดีเล็ก ๆ น้อยๆ ที่เป็นผลจากจำนวนวันที่หนาวเย็นที่ลดลงนั้นเทียบไม่ได้กับความเสี่ยงต่อสภาพอากาศร้อนอย่างรุนแรงที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น

ข้อกล่าวอ้าง : การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ผู้คนยากจนลง

ผู้ที่ต่อต้านความพยายามในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมักจะเห็นตรงกันว่า เชื้อเพลิงฟอสซิลมีความจำเป็นต่อการขับเคลื่อนและสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ

ดังนั้นการจำกัดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อลดโลกร้อน จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และจะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อคนที่ยากจนที่สุด

แต่นี่ไม่ใช่ภาพรวมทั้งหมด

เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานที่ขับเคลื่อนยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้มนุษย์ผลิตสิ่งต่าง ๆ ในปริมาณและอัตราเร็วที่ไม่เคยทำได้มาก่อนในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้ผู้คนผลิต ซื้อและขายสิ่งของต่าง ๆ มากขึ้น และมีฐานะร่ำรวยขึ้น

แต่การหยุดการใช้ถ่านหินไม่ได้หมายความว่าจะทำให้เรากลับไปสู่ยุคที่ต้องใช้เกวียนหรือเครื่องจักรที่ต้องใช้มือหมุน เพราะตอนนี้เรามีเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในระดับเดียวกัน

indigenous amazonian women during COP protests

Getty Images

ในหลายพื้นที่ ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมหรือพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังมีราคาถูกลงกว่าไฟฟ้าที่มาจากถ่านหิน น้ำมัน หรือแก๊ส

นอกจากนี้ ผลการศึกษาหลายชิ้นระบุตรงกันว่า ถ้าเราไม่ลงมือดำเนินการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกภายในปี 2050 เศรษฐกิจโลกอาจหดตัวลง 18% เนื่องจากความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ และอุณหภูมิที่ร้อนจัดจะสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ชีวิต ธุรกิจและการผลิตอาหาร

คนที่ยากจนที่สุดจะได้รับผลกระทบรุนแรงสุดจากสิ่งเหล่านี้

ข้อกล่าวอ้าง : พลังงานหมุนเวียนไม่สามารถพึ่งพาได้

ข้อกล่าวอ้างที่ว่า ความล้มเหลวของพลังงานหมุนเวียนนำไปสู่ปัญหาไฟดับกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียช่วงที่เกิดเหตุสายส่งกระแสไฟฟ้าขัดข้องทำให้เกิดไฟดับเป็นวงกว้างในรัฐเทกซัสของสหรัฐฯ ประชาชนหลายล้านคนต้องอยู่ในความมืดและเผชิญกับความหนาวเย็น

สื่อหลายสำนักในสหรัฐฯ นำข้อมูลจากโพสต์เหล่านี้ไปรายงานโดยอ้างอย่างผิด ๆ ว่า ปัญหาไฟดับมาจากกังหันลม

“ไฟดับเป็นผลมาจากการบริหารจัดการด้านการจ่ายกระแสไฟและการผลิตไฟที่ย่ำแย่” จอห์น กลูยาส ผู้อำนวยการบริหารของสถาบันพลังงานเดอรัม กล่าว

เขาบอกว่า ข้อกล่าวอ้างที่ว่า พลังงานหมุนเวียนทำให้เกิดปัญหาไฟดับ “เป็นเรื่องไร้สาระ…เวเนซุเอลา มีน้ำมันมหาศาลแต่ก็ยังเกิดปัญหาไฟดับบ่อยครั้ง”

Wind farm

Getty Images

เจนนี คิง จากไอเอสดี โกลบอล (ISD Global) ระบุว่า การทำลายความน่าเชื่อถือของพลังงานหมุนเวียนเช่นนี้ คือ “ข้อความโจมตีของคนที่ต้องการจะให้มีการพึ่งพาการใช้ หรือสนับสนุนการใช้น้ำมันและแก๊สต่อไป”

ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการพลังงานหมุนเวียนอ้างด้วยว่า เทคโนโลยีนี้ทำให้นกและค้างคาวตายจำนวนมาก โดยเพิกเฉยต่อผลการศึกษาที่ประเมินว่า โรงงานไฟฟ้าที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้สัตว์ล้มตายมากกว่าหลายเท่าตัว

จริงอยู่ว่ามีสัตว์ป่าบางชนิด รวมถึงนกต่าง ๆ ตายเพราะกังหันลม แต่สถาบันวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน หรือ LSE ระบุว่า “องค์กรการกุศลด้านการอนุรักษ์หลายแห่งเห็นว่า ข้อดีต่อสัตว์ป่าที่เกิดจากการบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ…มีมากกว่าความเสี่ยง หากมีการวางแผนคุ้มครองอย่างเหมาะสมรวมถึงการคัดเลือกที่ตั้งอย่างรอบคอบ”

…………..

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ