เชียงใหม่ กัญชา กัญชง พ้นยาเสพติด 9 มิ.ย. สาธารณสุขจังหวัด เตรียมช่วยเหลือประชาชน ในการลงทะเบียนปลูกกัญชา ผ่าน แอพพลิเคชั่น พร้อมข้อแนะนำ การบริโภคกัญชากัญชง อย่างปลอดภัย
7 มิ.ย. 65 – นางนฤมล ขันตีกุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้หลังวันที่ 9 มิถุนายน 2565 นี้
ทำให้ พืชกัญชา กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป ส่วนที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 คือสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงเท่านั้น ยกเว้นสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และ มี THC น้อยกว่า 0.2%W/W ไม่เป็นยาเสพติด
นอกจากนี้ ยังมีการห้ามนำเข้าพืชกัญชา กัญชง ยกเว้นเมล็ดพันธุ์ ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ.2507 กำกับดูแลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก สารสกัดกัญชา กัญชง ยังเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
ส่วนการขออนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีกัญชากัญชงเป็นส่วนประกอบ ก็เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา แล้วแต่กรณี
ดังนั้นประชาชนทั่วไป บริษัท หรือหน่วยงานราชการ สามารถปลูกกัญชากัญชง เพื่อใช้ดูแลสุขภาพหรือปลูกเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรมได้ โดยให้แจ้งข้อมูลการปลูกให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผ่านระบบการจดแจ้งการปลูก “แอพพลิเคชั่น Plookganja”
ซึ่งสามารถใช้โทรศัพท์มือถือดาวน์โหลด ได้ ทั้ง Google play และ App store หรือ จดแจ้งผ่าน web application ได้ที่เว็บไซต์ https://plookganja.fda.moph.go.th
หากไม่สามารถดำเนินการเองได้ ก็สามารถมายื่นขอให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จดแจ้งแทนให้ได้ โดยเตรียมหลักฐานคือบัตรประชาชน โทรศัพท์มือถือเพื่อยืนยันรหัส OTP และข้อมูลการปลูก ได้แก่
1. สิ่งที่ปลูก จำนวนต้นที่จะปลูก (ไม่จำกัดจำนวนต้น) แหล่งที่มา
2. รายละเอียดสถานที่ปลูก เช่น บ้านเลขที่ เลขที่โฉนดที่ดิน สถานที่สำคัญ จุดสังเกต และพิกัดการปลูก (ละติจูด ลองติจูด) ขนาดพื้นที่ที่ปลูก
3. วัตถุประสงค์ ซึ่งมี 3 ข้อ คือเพื่อใช้ดูแลสุขภาพ เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยทางการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้าน และเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์
เมื่อจดแจ้งสำเร็จ ก็จะมีใบรับจดแจ้งอิเล็กทรอนิกส์ สามารถพิมพ์ออกมาได้
ส่วนของใบอนุญาตปลูกกัญชา กัญชงเดิม จะสิ้นสภาพ แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาขอความร่วมมือให้ยังทำจัดทำรายงานการปลูก การจำหน่าย เพื่อรองรับการปรับเข้าสู่ (ร่าง) พระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ในอนาคตต่อไป และหากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เพิ่มหรือลดขนาดพื้นที่ปลูก ก็สามารถจดแจ้งรายละเอียดผ่านแอพพลิเคชั่น plookkanja ได้เช่นกัน
นางนฤมล ขันตีกุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำส่วนของกัญชา กัญชง มาใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพหรือใช้ในครัวเรือน เช่น ปรุงอาหารบริโภคเอง หรือปรุงจำหน่ายได้ แต่ก็มีข้อควรระวังในการใช้บริโภคกัญชาอย่างปลอดภัย-โดยขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำตามประกาศ กรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบหรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ซึ่งมีคำแนะนำโดยย่อ ดังนี้
1. สถานประกอบกิจการอาหาร-ต้องจัดหาใบกัญชาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย(จากแหล่งปลูกที่ได้รับใบอนุญาตหรือจากการจดแจ้งผ่านแอพพลิเคชั่นก็ได้)
2. จัดทำข้อความแสดงว่า ร้านนี้ใช้ใบกัญชา
3. แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชา-ปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหาร
4. แสดงคำเตือน ดังต่อไปนี้
ก. “เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน”
ข. “หากมีอาหารผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที”
ค. “ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระมัดระวังในการรับประทาน”
ง. “อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล”
5. ห้ามแสดงสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค
นอกจากนี้การนำกัญชามาใช้ประโยชน์ ต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ทั้งผู้ปรุงและผู้บริโภค เพื่อให้
เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและมีความปลอดภัยด้วย เช่น ควรใช้แต่ใบกัญชา/กัญชง เท่านั้น ปริมาณที่ใส่ต่อจาน ควรประมาณ 1-2 ใบ ระมัดระวังการใช้ความร้อนเป็นเวลานาน เช่น การตุ๋น การทอดจะทำให้สาร THC ตกค้างในน้ำมันทอดได้เป็นต้น
ต้องขอความร่วมมือผู้ปกครอง สอดส่องดูแล เฝ้าระวังบุตรหลาน ผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี รับประทาน หรือนำไปใช้เสพเพื่อความบันเทิง ซึ่งอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพของทั้งผู้เสพและผู้เกี่ยวข้องได้ ส่วนผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยากัญชาเพื่อการรักษาโรค สามารถไปรับบริการได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน คลินิกแผนปัจจุบัน คลินิกแพทย์แผนไทย และร้านยาได้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ กัญชาทางการแพทย์ www.medcannabis.go.th
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย หรือมีปัญหาในการยื่นจดแจ้งการปลูกฯ สามารถสอบถามได้ที่ Line ของงานกัญชากัญชง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ID Line :@601rhvib