กอ.รมน. แจงบทบาทหน้าที่ ชี้ หากยุบส่งผลกระทบชายแดนใต้แน่นอน

Home » กอ.รมน. แจงบทบาทหน้าที่ ชี้ หากยุบส่งผลกระทบชายแดนใต้แน่นอน


กอ.รมน.

กอ.รมน. โร่แจงบทบาทหน้าที่ หลังตกเป็นกระแสดราม่าทำงานทับซ้อน ชี้ หากยุบส่งผลกระทบชายแดนใต้แน่นอน ยอมรับ มีงบลับ!

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2566 ที่ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. มีการจัดโต๊ะแถลงประเด็นดราม่าที่ทาง “พรรคก้าวไกล” ได้มีการเสนอต่อที่ประชุมสภา ให้ทำการ “ยุบ กอ.รมน.” เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ทำงานทับซ้อน โดยการแถลงข่าวในวันนี้ประกอบด้วย พล.อ.นพนันต์ ชั้นประดับ อดีตผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน. พร้อมด้วย พล.ท.ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย อดีตรองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน. และ พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน. ร่วมชี้แจง กรณีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ ยกเลิกพระราชบัญญัติความมั่นคง พ.ศ. 2551 และชี้แจงความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ภารกิจการจัดการของ กอ.รมน. ที่คลาดเคลื่อนไป

กอรมน (2)

พล.อ.นพนันต์ กล่าวว่า การจัดการองค์กรเป็นไปตามระบบราชการ และเป็นสากล เพราะการแก้ปัญหาความมั่นคง จำเป็นต้องมีการอำนวยการร่วม และบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานอื่นๆ หากจะยุบ กอ.รมน.นั้น ภารกิจที่ดำเนินการก็จะต้องโอนกลับไปยัง สมช. ซึ่งก็จำเป็นจะต้องเพิ่มอัตรากำลังคนอีก และจะเป็นภาระงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย ส่วนกระแสดรามา “งบลับ กอ.รมน.” พล.ต.วินธัย ชี้แจงว่า ในงบประมาณ 7,000 กว่าล้านบาท เป็นงบประมาณในระบบงบประมาณปกติ ไม่ใช้งบลับ โดยส่วนใหญ่จะใช้ในภารกิจการแก้ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้อยู่ประมาณ 6,000 กว่าล้านบาท จะเป็นค่าใช้จ่ายตอบแทนในด้านกำลังพล รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ของพลเรือน ตำรวจ และทหารจำนวนเกือบ 5,000 ล้านบาท “ส่วนค่าใช้จ่ายที่ถูกจัดไว้ในหมวดรายจ่ายงบลับ นั้นอาจมีเพียงราวๆ 10 ล้านบาทเท่านั้น โดยเงื่อนไขการใช้จ่ายยังคงต้องเป็นไปตามระเบียบทางราชการทุกประการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบราชการ แต่ในระยะหลังงบในส่วนนี้ไม่มีแล้ว” พล.อ.นพนันต์ กล่าวเสริมว่า การใช้งบประมาณดังกล่าว กอ.รมน. ไม่มีอภิสิทธิ์ในการเลี่ยงการตรวจสอบใดๆ มีการตรวจสอบ และถ่วงดุล และงบประมาณดังกล่าวแต่เป็นงบที่บุคลากรได้รับตามสิทธิ เมื่อต้องไปปฏิบัติหน้าที่ ในภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งมียอดเจ้าหน้าที่ประมาณ 50,000 คน

  • นายก เศรษฐา จ่อ ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และ เจ้าหน้าที่รัฐ
  • ใช่เหรอ? โซเชียลแห่แชร์ภาพ ‘บิ๊กตู่’ ยกมือไหว้ ครอบครัว ‘ชินวัตร’
  • เกาหลีใต้ เสียใจ! กระแส แบนเกาหลี ยัน ไม่มีนโยบายปฏิเสธคนไทย

พล.อ.นพนันต์ กล่าวอีกว่า การกล่าวหา กอ.รมน.เป็นรัฐซ้อนรัฐนั้น ขอยืนยันว่า การจัดองค์กร กอ.รมน.นั้น ไม่ได้ซ้ำซ้อน แต่ผู้เสนอยังไม่ได้พิจารณาในมุมทางกฎหมาย ซึ่งการจัด กอ.รมน. จะเป็นระบบทหาร ผสมกับพลเรือน ถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดย กอ.รมน.ไม่ใช่ลักษณะรัฐซ้อนรัฐ และไม่ใช่หน่วยงานสูงสุดของประเทศ แต่เป็นหน่วยงานระดับปฏิบัติ การจัดหน่วยงานอยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการอำนวยการของ กพ. กพร. และต้องได้รับการตรวจสอบต่อรัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระ เช่นเดียวกับส่วนราชการอื่นๆ และไม่ได้ทำให้อำนาจทหารอยู่เหนือพลเรือน เพราะหน่วยงานผู้มอบหมายงานในปัจจุบันคือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งก็เป็นหน่วยงานระดับพลเรือน ขึ้นตรงนายกรัฐมนตรี รวมถึงมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาในฐานะ ผอ.รมน.

กอรมน (1)

พล.ต.วินธัย กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ ว่า เป็นส่วนราชการที่มีรูปแบบเฉพาะ ขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี มีอำนาจหน้าที่ในการติดตาม ตรวจสอบ ประสานงานและประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรโดยเสนอแผนต่อคณะรัฐมนตรี เสริมการปฏิบัติหน่วยงานของรัฐ เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคม เช่น “การแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ซึ่งหากไม่มี กอ.รมน. อาจจะไม่มีหน่วยงานหลักที่สามารถบังคับใช้ และดำเนินการรักษาความมั่นคงภายใน ทำให้ฝ่ายบริหารอาจขาดเครื่องมือสำคัญในการทำงานด้านความมั่นคง ที่จะต้องมาขับเคลื่อนและบูรณาการการแก้ไขปัญหาต่างๆ แก้ปัญหาต่างๆ ในสังคมยุคปัจจุบัน และอาจไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องจาก กอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคงในหลายด้าน โดยเฉพาะกรณีการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนใต้ ที่ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งหากยุบกลไกเครื่องมือการแก้ปัญหาไป อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาจังหวัดชายแดนใต้อย่างแน่นอน

ติดตามข่าวสาร Bright Today ช่องทางอื่น ๆ
Website : BRIGHT TODAY
Facebook : BRIGHT TV
Line Today : BRIGHT TODAY

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ