กรมอุทยานฯ ขอขึ้นเงินเดือนผู้พิทักษ์ป่า ช่วยค่าครองชีพ เสริมขวัญกำลังใจลุยเสี่ยงภัย

Home » กรมอุทยานฯ ขอขึ้นเงินเดือนผู้พิทักษ์ป่า ช่วยค่าครองชีพ เสริมขวัญกำลังใจลุยเสี่ยงภัย



กรมอุทยานฯ ขอเงินเดือนผู้พิทักษ์ป่า เดิม 9,000 เป็น 11,000 บาท หลังหยุดนิ่งนานนับสิบปี เพื่อช่วยค่าครองชีพ เสริมขวัญกำลังใจลุยงานเสี่ยงภัย

16 พ.ค. 66 – นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 66 ได้ส่งหนังสือไปถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทน หรือเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ตำแหน่งผู้พิทักษ์ป่า 13,419 อัตรา

เนื่องจากมีการปรับอัตราค่าตอบแทนครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 55 จาก 6,000 บาท เป็น 9,000 บาท/เดือน จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลานานถึง 11 ปี แล้ว ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่ได้เปลี่ยนแปลงไป

โดยหากเทียบเงินค่าตอบแทนกับภาระงานที่ปฏิบัติ และความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา กับบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านอื่นแล้ว จะเห็นได้ว่า มีความแตกต่างอย่างมาก ทั้งในด้านอัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและขวัญกำลังใจ

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า โดยในเรื่องนี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รับทราบปัญหา และมีนโยบายให้ดูแลเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิการ และสวัสดิภาพ ของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าให้ดีที่สุด

ทางกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้ทำเรื่องส่งกรมบัญชีกลางเพื่อขอปรับค่าตอบแทนให้เป็นไม่เกิน 11,000 บาท/คน/เดือน และขอให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 66 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ มีภารกิจในการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า การป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรของชาติในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน พื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ รวมกว่า 73 ล้านไร่

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จึงมีความจำเป็นและสำคัญมาก เนื่องจากการปฏิบัติงานภาคสนาม และการอยู่ในพื้นที่ป่า เป็นงานที่มีลักษณะพิเศษ เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย ต้องมีการออกลาดตระเวนเพื่อป้องกันปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย ปราบปรามการลักลอบจุดไฟเผาป่า ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการวางแผนจับกุมผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ ตลอดจนติดตาม จับกุม ควบคุมผู้ต้องหานำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี เป็นต้น

กรมอุทยานฯ จึงต้องจ้างบุคคลภายนอก ซึ่งก็คือราษฎรในท้องถิ่นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความชำนาญในสภาพภูมิประเทศ มีทักษะในการเดินป่า เพื่อร่วมปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ โดยต้องออกไปลาดตระเวนในพื้นที่ป่าทุรกันดารตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน บางครั้งมีความจำเป็นต้องพักแรมในป่าจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจ

การปฏิบัติงานดังกล่าวมีความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดแก่สุขภาพจากสัตว์มีพิษ เขื้อโรค และภัยอันตรายต่างๆ ที่มีอยู่ในป่า นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตอันเกิดจากสัตว์ป่าดุร้าย และที่สำคัญ คืออันตรายจากผู้กระทำผิดในป่าที่มุ่งร้ายต่อเจ้าหน้าที่อีกด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ