กรมทรัพยากรทะเลฯ ลุยแก้กัดเซาะชายฝั่ง ป้องเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง-เพิ่มความมั่นคงรากฐาน

Home » กรมทรัพยากรทะเลฯ ลุยแก้กัดเซาะชายฝั่ง ป้องเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง-เพิ่มความมั่นคงรากฐาน



กรมทะเลฯ ลุยแก้กัดเซาะชายฝั่ง ป้องกันเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง บ้านท่านุน จ.พังงา ใช้ไม้สนประดิพัทธ์ ปักเสาดักตะกอน แล้วเสร็จกว่า 40% พบทรายแนวโน้มเพิ่มขึ้น

18 พ.ย. 65 – พื้นที่บ้านท่านุ่น ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พร้อมด้วย นายประถม รัสมี ผอ.ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 พร้อมคณะ

ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการวิจัย เรื่อง การพัฒนาและทดสอบแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง 230 KV พังงา 2 – ภูเก็ต 3 ต้นที่ 116

ดร.จตุรงค์ คงแก้ว อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ผู้ควบคุมโครงการ เป็นผู้บรรยายสรุปผลการดำเนินงานให้ทราบ ซึ่งโครงการดังกล่าวฯ เป็นความร่วมมือกันระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อศึกษาหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ในกรณีนี้เป็นการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นจุดที่ตั้งของเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ส่งกระแสไฟฟ้าจากจังหวัดพังงาข้ามทะเลไปยังจังหวัดภูเก็ต รูปแบบของแนวทางการป้องกันใช้เป็นรูปแบบการปักเสาดักตะกอน เป็นไปตามมาตรการสีเขียวที่กรมทะเลฯ กำหนดไว้

โดยวางรูปแบบการจัดวางแนวปักไม้ให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ของพื้นที่ โดยเฉพาะทิศทางการไหลของกระแสน้ำชายฝั่งและการกระทบฝั่งของคลื่น การดำเนินการปักไม้ใช้เป็นไม้สนประดิพัทธ์ ขณะนี้ได้ปักแล้วเสร็จไปประมาณร้อยละ 40 หลังจากปักไม้ไปแล้ว

พบว่าเริ่มมีตะกอนทรายมาตกทับถมหลังแนวไม้เพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้เกิดความมั่นคงกับรากฐานของเสาไฟฟ้าแรงสูงต้นที่ 116 มากขึ้น นอกจากการปักไม้แล้ว ยังมีการปลูกไม้พุ่มและไม้เลื้อยเสริมในบริเวณโครงการด้วย เช่น จิกทะเล ผักบุ้งทะเล เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกรม ทช. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะมีการเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งต่อไป เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งในการติดตามการเปลี่ยนแปลงได้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้บันทึกการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งอยู่ตลอดเวลาด้วย

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เรื่องอื่นที่น่าสนใจ